ค้นหางานด่วน !

กสร.ชี้แจงนายจ้างสามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจ หรือเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ก็ต่อเมื่อลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19

หมวดหมู่: ข่าวเด่นวันนี้

          กสร. ชี้แจงกรณีนายจ้างออกประกาศหรือคำสั่งให้ลูกจ้างทุกคนเข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือเข้ารับ การสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 นั้นนายจ้างไม่มีอำนาจกระทำได้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 นายจ้างสามารถออกคำสั่งดังกล่าวได้เพื่อเป็นการคัดกรอง ป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19

 

 

          นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณี นายจ้างมีประกาศหรือคำสั่งให้ลูกจ้างทุกคนเข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือเข้ารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (การฉีดวัคซีน) เพื่อป้องกันโรคในกรณีที่ลูกจ้างมีความเสี่ยงหรือต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 แม้มีเจตนาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจนายจ้างดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่จะสั่งให้ลูกจ้างที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น ผู้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด–19 เป็นต้น เข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ตามวัน เวลา และสถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดไว้ ดังนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถกระทำได้ หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างที่ไม่ผ่านการตรวจหรือไม่ได้เข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเข้าทำงาน นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างและหากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้หรือมีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างด้วย อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 นายจ้างอาจมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อป้องกันโรคเป็นการเฉพาะรายได้ ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่มีลักษณะกำหนดขึ้นเพื่อคัดกรองป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 อีกทั้งยังเป็นการป้องกันสุขภาพของบุคคลอื่น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันสมควรถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตามนัยมาตรา 119 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

          โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 นายจ้างควรให้ความรู้แก่ลูกจ้างว่าการเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด–19 รวมทั้งควรสร้างความเข้าใจให้แก่ลูกจ้างว่า การเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและภูมิคุ้มกันหมู่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 ได้อีกด้วย

06 สิงหาคม 2564

ผู้ชม 217 ครั้ง

ผู้เข้าชมเว็บไซต์ : 24772903
Engine by shopup.com