นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 โดยให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการโครงการสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 2 (พ.ศ. 2563 – 2564) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ดังกล่าว สามารถนำเงินกู้ที่ได้รับจาการขอสินเชื่อไปรักษาการจ้างงาน ของลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดเงื่อนไขให้สถานประกอบการรักษาจำนวนผู้ประกันตนให้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุสินเชื่อ ขอสินเชื่อ นั้น ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ พบว่า มีสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ยังต้องการเงินกู้มากกว่า 15 ล้านบาท เพื่อรักษาการจ้างงานของลูกจ้างในสถานประกอบการของตนเองไว้ สำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการประกันสังคมฯ รับทราบปัญหาและเห็นความสำคัญที่ไม่ควร ให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมต้องถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการประกันสังคมฯ จึงมีมติในการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 เห็นชอบให้ขยายวงเงินสำหรับ สถานประกอบการจากเดิมไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ เป็นกำหนดตามจำนวนลูกจ้าง ในสถานประกอบการ หากจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ และจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ โดยกำหนดวงเงินรวมที่ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 201 คน ขึ้นไป ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารได้รับจัดสรรปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขบันทึกข้อตกลง(MOU) โดยคาดว่าจะเริ่มเพิ่มวงเงินได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า การให้สินเชื่อตามโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริม การจ้างงานฯ สำนักงานประกันสังคมมิได้กำหนดเฉพาะเจาะจงในประเภทกิจการใดกิจการหนึ่ง ยังคงให้ สถานประกอบการทุกประเภทกิจการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือน สามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เข้าร่วมโครงการสินเชื่อฯ กับสำนักงานประกันสังคม ปัจจุบันมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินรายละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งการพิจารณาให้สินเชื่อ เป็นไปตามระเบียบ และดุลยพินิจของแต่ละธนาคาร ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 2.75 ต่อปี กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และอัตราดอกเบี้ย สูงสุดไม่เกินร้อยละ 4.75 ต่อปี กรณีไม่หลักทรัพย์ค้ำประกัน
โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสินเชื่อ เพื่อการจ้างงาน สามารถขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp และเลือกหัวข้อ “ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ)” หรือสแกน QR code ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารทั้ง 5 แห่งข้างต้น ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเป็นโครงการฯ ที่ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถ นำเม็ดเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุน ทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนได้นอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการ รักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย
26 สิงหาคม 2564
ผู้ชม 208 ครั้ง