กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชู ‘วันสตรีสากล’ ปี 2565 ยกแรงงานสตรีสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ลุยจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย พร้อมแนะข้อกฎหมายควรรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล ซึ่งปัจจุบันแรงงานสตรีได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศไทยเป็นอย่างมากทั้งในระดับผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีที่ทำงานได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในแวดวงธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจการส่งออก ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภค ธุรกิจการเงิน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นภาคธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานสตรีมาโดยตลอดซึ่งเห็นได้จากการกำหนดการคุ้มครองสิทธิของแรงงานสตรีไว้เป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และส่งเสริมการจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานสตรี เช่น การส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการเพื่อลดความกังวลของแรงงานที่มีบุตร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการจัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กจำนวน 96 แห่ง ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์ มีบุตรของแรงงานไทยและต่างด้าวในความดูแล 888 คน รวมถึงการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ 2,008 แห่ง ตลอดจนการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมเรื่องความเท่าเทียมในการทำงาน
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานสตรีที่ควรรู้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีดังนี้ มาตรา 15 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ มาตรา 16 ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างานกระทำการล่วงเกิน คุกคามทางเพศต่อลูกจ้าง มาตรา 38 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ มาตรา 39 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรที่มีความสั่นสะเทือน งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ งานยก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม และงานที่ทำในเรือ มาตรา 39/1 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 4 ทุ่ม – 6 โมงเช้า ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด มาตรา 41 ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 45 วัน มาตรา 43 ห้ามมีให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ หากฝ่าฝืน ต้องถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานแรงงานหญิง เด็ก และเครือข่ายการคุ้มครองแรงงาน กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์: 0 2660 2048 หรือ E-mail : lpnd@labour.mail.go.th
09 มีนาคม 2565
ผู้ชม 210 ครั้ง