วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายตนเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ โดยเชิญภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มารับทราบแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการแรงงานในระยะต่อไป ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน
โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้เสนอมาตรการ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปิดจดทะเบียนใหม่ การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างตาม MOU และการนำแรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เสนอต่อครม.และมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ยังมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ให้สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 66 ซึ่งหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้ว และประสงค์ทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 โดยเริ่มดำเนินการหลังประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน
อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ ได้มีการชี้แจงการดำเนินการของกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ตลอดระยะเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ซึ่งประกอบด้วย
1.ด้านการเปิดจดทะเบียนใหม่ ได้แก่ มติครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 65 ที่เปิดโอกาสให้ขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงาน เป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66 และเมื่อได้รับอนุญาตทำงานและตรวจลงตราถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 68 โดยขออนุญาตให้อยู่และทำงาน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 67 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 68 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง
มติครม.เมื่อวันที่ 28 กันยายน 64 และมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 63 ที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจะอยู่ และทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภา 66 ซึ่งจะไปสอดรับกับมติครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 65
2.ด้านการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ได้แก่ มติครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมาที่เห็นชอบให้แรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 63 มติครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 64 มติครม.เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 จำนวนประมาณ 1,690,000 คน ให้อยู่และทำงานได้ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 68 โดยต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด
นอกจากนี้ยังมีมติครม.เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 และมติครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 64 ที่มีการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ให้อยู่และทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66
3. การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้าง ตาม MOU และการนำเข้าแรงงานตามมาตรา 64 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 และมีการปรับลดมาตรการมาอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ ตามคำสั่งของศบค.
22 กรกฎาคม 2565
ผู้ชม 256 ครั้ง