ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 2 ประเด็น ขยายเวลาอยู่ต่อและทำงานให้แรงงานต่างด้าวตาม MOU (ครบ 4 ปี) ถึง 31 ก.ค. 66 เพื่อให้นายจ้างยื่นเอกสารนำเข้าตาม MOU และขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวที่ทำหนังสือเดินทางไม่ทันภายใน 15 พ.ค. 66 ให้อยู่เพื่อทำงานและทำหนังสือเดินทางให้แล้วเสร็จ ถึง 31 ก.ค. 66
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 กรกฎาคม 2566) สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ยังอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ในระหว่างการผ่อนผันให้นายจ้างที่ประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวดำเนินการขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย และให้แรงงานต่างด้าวที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถเดินทางกลับประเทศได้
2. ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ทัน ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2666 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยอนุญาตให้อยู่และทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แล้วแต่กรณี
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน มีหนังสือถึงกระทรวงแรงงานร้องขอให้มีมาตรการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตาม MOU ที่ครบวาระการจ้างงานให้สามารถทำงานได้ต่อไป หรือสามารถกลับเข้ามาทำงานตาม MOU ได้โดยสะดวก ซึ่งกรมการจัดหางานพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างก่อน เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชม ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นภาคการผลิต และธุรกิจบริการซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อนจะต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรง การช่วยเหลือในครั้งนี้นอกจากทำให้ดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ถือเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงเป้าหมาย
“แรงงานต่างด้าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการของผู้ประกอบการจำนวนมาก ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าว และเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน คณะรัฐมนตรีจึงถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแรงงานต่างด้าวเพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการ รักษาความมั่นคงและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ” รมว. แรงงาน กล่าว
31 พฤษภาคม 2566
ผู้ชม 100 ครั้ง