นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ให้กำลังใจเยาวชนจบ ม.3 ที่ได้ไม่เรียนต่อ เร่งฝึกอบรมด้านอาชีพ ให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวหลังจบฝึก มุ่งเน้นสร้างงาน สร้างรายได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) และไม่ได้ศึกษาต่อที่กำลังค้นหาความถนัดด้านอาชีพ และการดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์ข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้บูรณาการร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานต่างๆ เพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าว ส่งเสริมการประกอบอาชีพหลังจากฝึกอบรมจบหลักสูตรแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” จะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งดำเนินการเพิ่มทักษะให้แก่นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ที่ไม่ได้ศึกษาต่อ และมอบหมายให้นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่เพื่อกำกับการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการฝึกอบรมตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์สูงสุด
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยเยาวชนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) และไม่ได้ศึกษาต่อที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การทำงาน ซึ่งแท้จริงแล้วเยาวชนกลุ่มนี้เป็นวัยที่ควรจะอยู่ในการศึกษา แต่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ จึงให้ความสำคัญและกำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เยาวชนกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงมอบหมายให้ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้กำลังใจและเยี่ยมผู้เข้ารับการฝึกอบรมในโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 37 บุรีรัมย์ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายพัฒนาทักษะให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ จำนวน 1,520 คน ดำเนินการแล้ว จำนวน 1,325 คน อละในส่วนของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 37 บุรีรัมย์นั้นได้จัดฝึกอบรมให้เยาวชนกลุ่มนี้ในหลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ รัยะเวลาฝึก 280 ชั่วโมง จำนวน 20 คน โดยแบ่งการฝึกเป็น 2 ช่วง คือ ฝึกในสถาบันฯ ระหว่างวันที่ 18 เม.ย. – 16 มิ.ย.66 หลังจากนั้น น้องๆ กลุ่มนี้จะเข้าฝึกงาน เพื่อฝึกปฎิบัติงานจริงในสถานประกอบกิจการ อีก 1 เดือน ผู้ที่ผ่านการฝึกทั้ง 2 ช่วง จะได้รับวุฒิบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเอกสารรับรองความรู้ นอกจากนี้ เมื่อจบการฝึกดีงกล่าวแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือ เพื่อเป็นการการันตัฝีมือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานจริง สามารถเป็นเครื่องยืนยันความพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการทำงานอีกด้วย
06 มิถุนายน 2566
ผู้ชม 77 ครั้ง