ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot (ไอราฟ โรบอท) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) คว้าแชมป์โลกรางวัลชนะเลิศ หุ่นยนต์กู้ภัย World Robocup Rescue 2023 โดยเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 9 และได้รางวัล Best in class mobility (สมรรถนะการขับเคลื่อนยอดเยี่ยม) และ รางวัล Best in class mapping (การสร้างแผนที่จำลองเสมือนจริงยอดเยี่ยมระดับโลก) ณ เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 -10 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ผลงานหุ่นยนต์ iRAP Robot นับเป็นการสร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้ประเทศไทยและ มจพ. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 9 มจพ. จึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยถึง 9 สมัย ยืนหนึ่งโชว์นวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมระดับโลก นับได้ว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในด้านของทีมเวิร์คของนักศึกษาทีมแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยของมหาวิทยาลัยได้นำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติครั้งนี้ โดยมีทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมจำนวน 17 ทีม จากนานาประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน เม็กซิโก บังกลาเทศ เกาหลีใต้ ออสเตรีย ฝรั่งเศส ตุรกี และไทย โดยประเทศไทยสามารถคว้าชัยชนะได้
ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์ อาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมทีม กล่าวว่า เมื่อหุ่นยนต์ iRAP Robot ปรากฏตัวขึ้นในสนาม “ย่อมเป็นตัวเต็งในการแข่งขันครั้งนี้ สามารถสะกดสายตาทีมอื่น ๆ ด้วยศักดิ์ศรีที่เป็นแชมป์โลกหลายสมัย จึงทำให้ทีมเราต้องพัฒนาศักยภาพ และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่น ฝีมือขั้นเทพ”จากนักศึกษารั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แบบ 100% เติมเต็มทุกกระบวนการในการสร้างหุ่นยนต์ให้ตรงความต้องการของโจทย์และกติกาการแข่งขันในเวทีระดับโลกยุคใหม่ในหลาย ๆ ด้าน สำหรับการพัฒนาต่อยอดให้ความสำคัญเทคโนโลยีทุกด้าน รวมถึงการสร้างหุ่นยนต์ให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาแชมป์ให้ได้ต่อไป
จุดเด่นที่ทำให้ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยคว้าแชมป์โลกในครั้งมีอยู่ 3 องค์ประกอบที่บ่งบอกถึงสมรรถนะ 3 ด้าน
1. Mobility หรือด้านการขับเคลื่อน หุ่นยนต์ของเราสามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวางอย่างเช่น หิน ทราย หรือบล๊อกไม้ซึ่งเป็นการจำลองการเกิดอุบัติภัย อาคารถล่ม
2. Dexterity หรือด้านการใช้แขนกล หุ่นยนต์สามารถใช้แขนกลในการหยิบจับสิ่งกีดขวางหรือวัตถุในพื้นที่ประสบภัย หรือการเปิดประตูอาคาร
3. Exploration หรือ Mapping หรือด้านการสำรวจและทำแผนที่ หุ่นยนต์ของเราสามารถสร้างแผนที่สภาพแวดล้อมที่ได้วิ่งผ่าน เพื่อดูว่ามีสิ่งกีดขวางตรงไหนบ้าง เส้นทางการเดินทางที่เหมาะสมเป็นอย่างไร นอกจากนี้จะมีระบบการตรวจจับวัตถุอัตโนมัติซึ่งใช้ระบบของ AI หรือ Neural network ในการทำงาน โดยเมื่อระบบตรวจจับตรวจพบวัตถุ เช่นป้ายวัตถุไวไฟ วัตถุที่สามารถระเบิดได้ ตำแหน่งของวัตถุดังกล่าวจะถูกพลอตลงไปยังแผนที่ ทำให้เราจะสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการช่วยเหลือทีมหน่วยกู้ภัยในการระบุเส้นทางหรือพื้นที่เสี่ยงที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าสู่พื้นที่ประสบภัยจริง
ผศ.นพดล พัดชื่น อาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมทีม เล่าให้ฟังถึงการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ว่า ทั้งหมดของฮาร์ดแวร์ ส่วนโครงสร้าง และการออกแบบ ถูกออกแบบและสร้างด้วยฝีมือเด็กไทย มีเพียงชิปประมวลผลที่ยังต้องอาศัยจากต่างประเทศเนื่องจากประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ ส่วนซอฟต์แวร์ทั้งหมดก็ถูกออกแบบและสร้างขึ้นจากฝีมือนักศึกษาและอาจารย์ในทีมทั้งหมดไม่ได้ใช้ของจากต่างประเทศ เสริมให้สมรรถนะของหุ่นยนต์ iRAP Robot สามารถทำคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งทุกรอบ โดยรอบคัดเลือกได้ 1411% รอบก่อนชิงชนะเลิศได้ 695% ซึ่งทำให้บรรยากาศการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างเข้มข้น สร้างความกดดันให้กับทุกทีม จากเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2023” นับได้ว่าความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการทำงานเป็นทีมและทุกคนมีสติและเป้าหมายร่วมกัน
สมาชิกในทีม iRAP ROBOT ที่แถลงข่าวในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ประกอบด้วย (1) นายจิรกานต์ สุขเจริญ (หัวหน้าทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot)
(2) นายฐิติยศ ประกายธรรม (3) นายภูมิทรรศน์ สังขพันธ์ (4) นายศักดิธัช วินิจสรณ์ (5) นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช (6) นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล (7) นายปิยภูมิ ธนวุฒิอนันต์ (8) นายกลย์ภัทร์ บุญเหลือ (9) นายธรณินทร์ อุ่นอารีย์ (10) นายธนกร กุลศรี (11) นายนภดล จำรัสศรี (11) นายเจษฎากร ชัยนราพิพัฒน์ (13) นายภูบดี บุญจริง ด้านอาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมทีม มี (1) ผศ.สมชาย เวชกรรม (2) รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ (3) อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม (4) อาจารย์ ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์ และ (5) ผศ.นพดล พัดชื่น
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 9 ของ มจพ. ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งอีกครั้ง ด้วยฝีมือสุดคลาสสิคบนเวทีโลก และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า มจพ. เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์ที่นานาชาติรู้จักฝีไม้ลายมือและชื่อเสียงเยาวชนไทยเป็นอย่างดี เป็นการตอกย้ำความเป็นที่สุดของแชมป์โลกแบบครบเครื่องในระยะเวลาถึง 17 ปี ตั้งแต่แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 1 ของ มจพ.ในปีพ.ศ. 2549 ( ค.ศ. 2006 ) จากเวทีการแข่งขัน World RoboCup Rescue กับทีมหุ่นยนต์กู้ภัยนานาชาติทั่วโลก ณ เมือง เบรเมน ประเทศเยอรมัน ล่าสุด แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 9 ของ มจพ. ในปีพ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) จากเวทีการแข่งขัน World RoboCup Rescue กับทีมหุ่นยนต์กู้ภัยนานาชาติทั่วโลก ณ เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส
นับเป็นการรักษาแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอแสดงความยินดีและชื่นชมในความสามารถของนักศึกษาทุกท่านที่สร้างชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ และทำให้ต่างชาติทึ่งและยอมรับในศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทย
15 กรกฎาคม 2566
ผู้ชม 513 ครั้ง