รมว.สุชาติ มอบอธิบดีบุปผา ลงพื้นที่ขอนแก่น นั่งหัวโต๊ะขับเคลื่อนภารกิจศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง ด้าน ระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ วางแผนปี 67 จัดคอร์สเด่น 3 กลุ่ม 27 หลักสูตร
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานการประชุมคระกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ (AMA)ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น นางสาวบุปผา เรืองสุด เปิดเผยภายหลังการประชุมดังกล่าวว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ หรือ AMA เป็น 1 ใน 7 ศูนย์ฝึกอบรมเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Exellence Training Center) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ตั้งอยู่ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่นิยมใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิลุ่มแม่น้ำโขงเป็นสำคัญ ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 สามารถพัฒนากำลังคน ได้จำนวน 1,040 คน ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภาพและพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างความสามารถ และโครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และยังร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดฝึกอบรมให้กับนักศึกษาปวช.และปวส. ปีสุดท้าย ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพต่อไป
นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อวางแผนงานการขับเคลื่อนภารกิจของสถาบัน AMA ในปีงบประมาณ 2567 ให้บรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยมีการพิจารณารูปแบบการฝึกอบรมเป็น Hybrid Training มากขึ้น มีการฝึกอบรมที่สถาบันและรูปแบบออนไลน์ควบคู่กัน เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและลดค่าใช้จ่ายของผู้เข้ารับการฝึกอบรม สำหรับหลักสูตรแบ่งเป็น 3 กลุ่มทักษะ ดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านการออกแบบชิ้นส่วนทางกลในระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ จำนวน 12 หลักสูตร กลุ่มที่สอง กลุ่มหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านการออกโปรแกรมสำหรับระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ จำนวน 6 หลักสูตร และกลุ่มที่สาม กลุ่มหลักสูตรการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี Digital Twins เพื่อจำลองระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์แบบเสมือนจริง จำนวน 3 หลักสูตร รวมจำนวน 21 หลักสูตร และยังมีการจัดทำหลักสูตรยกระดับฝีมือเพิ่มเติม อีกจำนวน 6 หลักสูตร คาดว่าหลักสูตรดังกล่าวมีเพียงพอที่สามารถตอบสนองการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่พนักงานในสถานประกอบกิจการในสายการผลิตและระดับวิศวกรรม แรงงงานใหม่ นักศึกษาระดับปวช. ปวส. คาดว่าในปีงบประมาณ 2567 จะพัฒนากำลังคนไม่น้อยกว่า 1 พันคน
“สถาบัน AMA เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสาขาที่ยังขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การขับเคลื่อนภารกิจของสถาบัน AMA จึงมีส่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในแต่ละปีมีแผนพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันคน” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว
09 สิงหาคม 2566
ผู้ชม 59 ครั้ง