อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด หัวหน้าคณะผู้แทนของกระทรวงแรงงานพร้อมทีมงาน ร่วมประชุมเตรียมจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Lyon 2024) กำหนดจัดขึ้นปลายปี 67 ที่ฝรั่งเศส เตรียมแผนสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน รับนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การเดินทางเข้าร่วมประชุมที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ในครั้งนี้ มีการประชุมหารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้แทนของแต่ละประเทศนำไปเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันต่อไป ซึ่งในวันนี้คณะผู้แทนของประเทศไทยประกอบด้วยตนเองในฐานะหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยนางสาวพรรวี นาคพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ ผู้แทนเทคนิคและนางสาวเยาวลักษณ์ กงษี ผู้ช่วยผู้แทนเทคนิค ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 เป็นวันที่ 3 ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ (Strategic Development Committee Meeting) ในหลายประเด็น อาทิ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แนวทางการประชาสัมพันธ์ให้การแข่งขันฝีมือแรงงานเป็นที่รู้จัก รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะด้านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งอนาคต (Competitions of the Future) แก่องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (World Skills International)
นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้รับฟังและรวบรวมความเห็นจากสมาชิก ผู้จัดการการแข่งขันแต่ละสาขา และภาคีหุ้นส่วน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานในอนาคตให้สะท้อนความต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืน เช่น การจัดการแข่งขันในแต่ละสาขาควรสะท้อนความต้องการของภาคเศรษฐกิจอย่างน้อยใน 3 ทวีปหรือภูมิภาคขึ้นไป และสาขาควรจะมีความแตกต่างกันในด้านมาตรฐานและสมรรถนะหลัก และการจัดสภาพแวดล้อมของการแข่งขันควรสะท้อนสภาพการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม การประชุมอีกคณะคือคณะกรรมการการแข่งขัน (Competitions Committee Meeting) เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Lyon 2024) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 10-15 กันยายน 2567 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการเสนอแก้ไขกฎการแข่งขัน และเห็นชอบโครงการนำร่องในการแปลเอกสารเป็นภาษาแม่ของผู้แข่งขันล่วงหน้า รวมถึงการหารือแนวทางการอบรมและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ผู้แทนประเทศไทยได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการจัดการแข่งขันแห่งอนาคต โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาการจัดการแข่งขันให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันของไทยอีกด้วย
“การจัดส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ จนก้าวสู่เวทีระดับโลก เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและแรงงานไทยเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือ ที่ส่งผลต่ออัตราค่าจ้าง การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการขับเคลื่อนให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ” อธิบดีบุปผา กล่าวในท้ายสุด
02 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 74 ครั้ง