วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ตรวจเยี่ยม พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการให้แก่ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมบูธภารกิจต่างๆ ของกรม ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นว่ากระทรวงแรงงานเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีภารกิจในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ให้เพียงพอทั้ง “เชิงปริมานและเชิงคุณภาพ สำหรับรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆกระทรวงแรงงาน รับหน้าที่ในการดูแลแรงงานทุกระดับ ตั้งแต่แรงงานรายวันตลอดจนผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่กระทรวงแรงงานต้องให้การช่วยเหลือแรงงานไทยให้หลุดพ้นจากคำว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยพัฒนากำลังแรงงานไทยให้มีศักยภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึง การส่งเสริมแรงงานไทยให้มีงานทำได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามทักษะฝีมือ และได้มีนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ซึ่งในวันนี้ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งได้มาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายรวมทั้งพบปะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งภารกิจด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานถือเป็นภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ และการส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้พัฒนาทักษะลูกจ้างของตนให้เป็นแรงงานคุณภาพด้วย
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินภารกิจเร่งด่วนในการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานขั้นสูง เพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถในการปฎิบัติงาน ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มอาชีพที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระดับนานาชาตินั้น การ UP-SKILL FOR MORE EARN เพื่อการมีงานทำจะช่วยสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับค่าจ้างทึ่สูงขึ้นตามทักษะ และความสามารถในการปฎิบัติงาน โดยผมได้เน้นย้ำถึงนโยบายหลักในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ที่สำคัญคือต้องส่งเสริมศักยภาพของกำลังแรงงานและผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้กำลังแรงงานมีฝีมือได้มาตรฐานรองรับค่าจ้างตามความสามารถ พร้อมทั้งมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อีกทั้ง ยังรวมถึงการควบคุมกำกับดูแลการประกอบอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามากำกับดูแล เช่น การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการออกหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
ด้านนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า จากการรับมอบนโบบายดังกล่าว ในปี 2567 กรมมีแผนดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้ง Upskills และ Reskills เป้าหมาย 3.9 ล้านคน ซึ่งนอกจากการประชุมรับมอบนโยบายแล้ว กรมได้นำนวัตกรรมและผลการดำเนินงานซึ่งเป็นกระบวนงานหลัก ผลงานเด่นจากหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค มาจัดแสดงให้คณะรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนวัตกรรมสำหรับใช้ในการฝึกอบรม ซึ่งมีทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการฝึกทักษะแรงงานให้แก่กลุ่มเปราะบาง นอกระบบ นวัตกรรม และศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง เช่น งานเชื่อม แขนกล หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
04 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 105 ครั้ง