นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งกำหนดจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน” พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ
ผู้ประกันตน ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม - สิงหาคม 2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง)
นายจ้าง มีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม - สิงหาคม 2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง) กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจ/กรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิได้เพียงแห่งเดียว
“รมว.แรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมจะเปิดให้นายจ้าง และผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ จังหวัด/ สาขา ตั้งแต่วันที่ 12 - 31 ตุลาคม 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ผมจึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตน ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566"
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม และวางระเบียบการรับจ่ายเงินและจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนฯ ดังนั้น วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์อันสูงสุดของลูกจ้างผู้ประกันตน และความมั่นคงของระบบประกันสังคมไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ว่า
“จะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบกิจการของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ ไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญาหรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะเปิดรับสมัครให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ 25 – 31 ตุลาคม 2566 ณ ที่ตั้งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566”
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เชื่อมั่นในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่คำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดกลับคืนไปสู่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ
06 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 79 ครั้ง