วันที่ 4 มกราคม 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้แจ้งเบาะแสว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งเปิดรับสมัครและจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ไต้หวัน โดยการอ้างชื่อของบริษัทและภาพถ่ายมาโพสต์ผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย เพื่อเชิญชวนให้คนมาสมัครงานนั้น ซึ่งในเรื่องนี้ ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานก่อน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า จากกรณีดังกล่าวกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางานลงพื้นที่เข้าตรวจสอบในทันที ซึ่งจากรายงานของกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ทราบว่า ในวันนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ จำนวน 4 คน ลงพื้นที่ไปทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ย่าน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และอีกบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ย่าน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กรณีมีผู้แจ้งเบาะแสว่าบริษัททั้งสองแห่งเปิดรับสมัครและจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ไต้หวัน จากการตรวจสอบบริษัทแรกมีลักษณะเป็นโรงงานอุตสากรรม ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนไฟฟ้า มีพนักงานเป็นคนไทย ซึ่งบริษัทไม่มีการรับสมัครและจัดส่งคนไปทำงานที่ไต้หวัน กรณีดังกล่าวผู้ใช้เฟซบุ๊กได้โพสต์ข้อความว่าได้นำคนหางานมาสอบสัมภาษณ์และทดสอบความพร้อมทางร่างกายก่อนไปทำงานที่ไต้หวัน โดยการนำชื่อของบริษัทและภาพถ่ายมาโพสต์ เพื่อเชิญชวนให้คนมาสมัครงาน ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่า ไม่รู้จักกับบุคคลที่โพสและไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทและสถานที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นสถานที่ของบริษัทแต่อย่างใด ทั้งนี้ จะได้นำเรียนผู้จัดการบริษัทให้ทราบเบื้องต้น และจะดำเนินการกับผู้ที่นำชื่อบริษัทไปแอบอ้างทำให้ได้ความรับความเสียหายตามกฎหมายต่อไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ยังได้เข้าตรวจสอบอีกบริษัท ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ขณะเข้าตรวจสอบ พบว่า ประตูรั้วได้มีการล๊อคกุญแจไว้ ซึ่งได้สอบถามบ้านพักอาศัยข้างเคียงที่เปิดเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ได้ให้ข้อมูลว่าบ้านหลังดังกล่าวได้ปิดมาหลายเดือนแล้ว และไม่พบเห็นบุคคลเข้าออกในบริเวณดังกล่าว
กรณีดังกล่าวผู้ใช้เฟซบุ๊กกระทำการหลอกลวงคนหางาน โดยกรมการจัดหางานได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินในฐานความผิดตาม พรบ.จัดหางานฯ พ.ศ.2528 ตามมาตรา 91 ตรี ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปคม. ตาม ปจว.ลงวันที่ 21 ธ.ค. 66 ทั้งนี้ จะได้มีหนังสือถึง บก.ปคม.เพื่อขอความร่วมมือในการเร่งรัดการออกหมายจับกับบุคคลที่ได้หลอกลวงคนหางานดังกล่าวต่อไป
ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการจัดหางานมีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ทำหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวัง การโฆษณาจัดหางานบนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเข้มงวด หากพบผู้ใดโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3 -10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ผู้ใดที่จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงานผ่านระบบ e – Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
05 มกราคม 2567
ผู้ชม 70 ครั้ง