มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จับมือ THG จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ภายใต้ชื่อ St. Luke School of Medicine ตั้งเป้าเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย หวังช่วยภาครัฐผลิตแพทย์เติมเข้าระบบสาธารณสุขไทยที่กำลังเสี่ยงขาดแคลน เตรียมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปี 2568
นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ภายใต้ชื่อ St. Luke School of Medicine เพื่อจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ว่า ปัจจุบันวงการสาธารณสุขของประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ที่บันทึกอยู่ในระบบประมาณ 7 หมื่นราย หากกำลังประสบสภาวะสมองไหลแพทย์ลาออกจากระบบจำนวนมาก ขณะที่สถิติของแพทย์ไทย 1 คนโดยเฉลี่ยต้องดูแลผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คน ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานจำนวนแพทย์ต่อประชากรตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ส่งผลให้แพทย์ต้องแบกรับภาระงานมากเกินไป หากปล่อยต่อไปจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะพื้นฐานของประชากรในระยะยาว ดังนั้น THG และ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะภาคเอกชนจึงอยากร่วมสนับสนุนภาครัฐสร้างสถาบันผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ระบบเพื่อกระจายตัวออกไปรับใช้สังคมในพื้นที่ต่างๆ จึงนำมาสู่ความร่วมมือนี้
“คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine จะผสานความสามารถด้านการผลิตบัณฑิตของ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กับความเชี่ยวชาญและเครือข่ายทางการแพทย์ที่แข็งแรงของ THG เข้าด้วยกัน โดย THG รับผิดชอบในการจัดตั้งกองทุนคณะแพทยศาสตร์ ตามเกณฑ์การขอเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของแพทยสภา รวมถึงจัดหาโรงพยาบาลหลักสำหรับการเรียนการสอนระดับคลินิกและสถาบันพี่เลี้ยง ตลอดจนการจัดจ้างผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร รวมถึงเครื่องมือแพทย์และวัสดุอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ ขณะที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รับผิดชอบด้านการบริหารบุคลากรและสาธารณูปโภคที่จำเป็น โดยเตรียมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2568 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติและรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเป็นสำคัญ”
นายแพทย์บุญ วนาสิน ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันการศึกษา หรือ โรงเรียนด้านการแพทย์ถือเป็นอีกหนึ่งในเจตนารมณ์ที่ THG คาดหวังและต้องการทำขึ้นเพื่อสังคมมาตลอด วันนี้ก็ได้รับการตอบรับให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยคณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine จะมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากไทยและต่างประเทศมาเป็นผู้สอน ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบประยุกต์ อาทิ นำวิชา anatomy physiology และ clinical medicine มารวมกันเพื่อทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ และนำ AI มาใช้ในการเรียนการสอนด้วย โดยตั้งเป้าเป็น international medical school หรือ โรงเรียนแพทย์ที่ทันสมัยสุดแห่งหนึ่งของเอเชีย
ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine เกิดขึ้นตามความเห็นชอบจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เพื่อร่วมมือกับ THG ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรอบรู้ รับผิดชอบ มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะด้านการบริหารจัดการที่สอดคล้องมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานวิชาการและมาตรฐานสากล ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำนักปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.) และแพทยสภา
การก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine เป็นปณิธานของภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ (บราเดอร์มาร์ติน) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้บุกเบิกก่อสร้างวิทยาเขตสุวรรณภูมิ โดยท่านตั้งชื่อคณะเป็นภาษาอังกฤษว่า St. Luke School of Medicine of Assumption University และออกแบบตราสัญลักษณ์ประจำคณะเป็นรูป “กางเขนสีเขียวเข้มบนโล่สีแดง” หมายถึง คณะแพทยศาสตร์ในสถาบันการศึกษาคาทอลิก ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากอัสสัมชัญ ในบริบทนี้จึงหมายถึงคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนั่นเอง
คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ ซึ่งมีการออกแบบสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานและศึกษา โดยวิทยาเขตสุวรรณภูมิจะเป็นที่เรียนของนักศึกษาในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นในชั้นคลินิกปี 4 - 6 นักศึกษาจะไปศึกษาและฝึกปฏิบัติยังโรงพยาบาลคู่ความร่วมมือที่ทันสมัยต่อไป ส่วนความพร้อมของการเปิดการเรียนการสอน ทางมหาวิทยาลัยกำลังจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเพื่อเตรียมขอรับการพิจารณารับรองหลักสูตรและจัดเตรียมทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ จุดเด่นของหลักสูตรจะเป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ เช่น การบริหารธุรกิจ ภาวะผู้นำ และความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับแพทยศาสตร์ รวมถึงสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นสุขภาวะของผู้เรียนและส่งเสริมการเรียนรู้ภายใต้ทรัพยากรการเรียนรู้ที่ทันสมัย สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีความสุขและสุขภาพดี (Happy and healthy campus life) โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 60 คน ได้ภายในปี 2568 ตามเป้า
อย่างไรก็ตามขณะนี้ คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งเพื่อพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้าน Health Economic ระหว่างไทยและจีน รวมถึงร่วมกับ Wisconsin Medical School จัดทำโครงการพัฒนาคณาจารย์ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาการในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของสถาบัน
22 มกราคม 2567
ผู้ชม 90 ครั้ง