ค้นหางานด่วน !

รมว.พิมพ์ภัทรา สั่งการ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลัง บริษัท โตโยต้าฯ ต่อยอดการยกระดับธุรกิจชุมชน ดึงระบบคาราคุริไคเซ็นเสริมแกร่ง คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท

หมวดหมู่: ข่าวเด่นวันนี้

 

          กรุงเทพฯ 30 มกราคม 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ
Big Brother “พี่ช่วยน้อง” ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ พร้อมดึงระบบการผลิตแบบโตโยต้าและโตโยต้าคาราคุริไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชน หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่เกษตรอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

          นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เพราะหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรมในตอนนี้ และส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ เศรษฐกิจฐานราก หรือ ชุมชน โดยเทรนด์การอุปโภคบริโภคของคนเปลี่ยน การปรับตัวให้อยู่รอดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาโดยตลอด จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

          นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม และบริษัท โตโยต้าฯ ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

           สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Technology ในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนด้านต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชนผ่านกิจกรรมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชุมชน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาการผลิตต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

          ด้าน นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า บริษัท โตโยต้าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยทางโตโยต้าเองได้ดำเนินโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” มากว่า 10 ปีแล้ว และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” ด้วยการร่วมศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ  พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่าง ๆ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างผลกำไรจนเป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น 32 ธุรกิจทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการเปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

          นอกจากนี้ โตโยต้าฯ ยังได้มีการขยายผลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน “โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง” ซึ่งความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ นครราชสีมา ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดการยกระดับในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

          นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในครั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุก ๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้รับไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบลำเลียงกล้วย เครื่องทุ่นแรงลากอวน และเครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่ามูลวัว เป็นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืนโดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

 

30 มกราคม 2567

ผู้ชม 54 ครั้ง

ผู้เข้าชมเว็บไซต์ : 23547221
Engine by shopup.com