วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดตัวแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566 - 2570 โดยมี คุณออคตาเวียนโต ปาซาริบู รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยวาระปี 2566 - 2570 ในการนี้มี นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติ ผู้แทนองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานกล่าวเปิดงานเปิดตัวแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย หรือ Decent Work Country Programme วาระปี 2566 - 2570 ในวันนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ ILO และไตรภาคี ที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ยุทธศาสตร์ แผนงานและนโยบายของแต่ละประเทศ โดยกำหนดแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในประเด็นที่ไตรภาคีให้ความสำคัญสูงสุด แผนงาน Decent Work ฉบับนี้ถือเป็นแผนงานฯ ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย หลังจากแผนงานฯ ฉบับที่ 1 วาระปี 2562 - 2565 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาของแรงงานของประเทศไทยมาแล้ว โดยแผนงานฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดประเด็นความสำคัญ 3 ประการ คือ อนาคต เข้าถึง และเชื่อมต่อ ได้แก่ 1) อนาคต คือ การพัฒนาทักษะฝีมือตลาดแรงงานไทยให้ทันต่อตลาดและอุตสาหกรรมของโลกที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต 2) เข้าถึง คือ เสริมสร้างระบบประกันสังคม ให้สิทธิคุ้มครองในทุกกลุ่ม สร้างความมั่นคงให้แรงงานนอกระบบ กลุ่มเปราะบาง โดยสร้างโอกาสที่เท่าเทียม และ 3) เชื่อมต่อ คือ พัฒนาฐานข้อมูล Big Data ระหว่างหน่วยงาน การเสริมความแข็งแกร่งในการจัดการข้อมูล ยกระดับการสื่อสารเชื่อมต่อในทุกด้าน ระหว่างหน่วยงานและสาธารณชน
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานมีการดำเนินการที่สอดคล้องและสนับสนุนแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ภายใต้นโยบาย “ทักษะดี มีงานทำ ประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม พัฒนาทักษะฝีมือในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน สร้างโอกาสอาชีพในทุกช่วงวัย ดูแลสวัสดิการ และรายได้ที่มั่นคง แก่แรงงานทุกกลุ่ม โดยมีเป้าหมายในการขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566 - 2570 ในความมุ่งมั่นของทั้ง 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง และ ILO ที่จะร่วมมือกันดำเนินการตามแผนงาน Decent Work จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
“แผนงาน Decent Work จะไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง ILO และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกท่าน ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะสามารถดำเนินงานตามกรอบบันทึกความเข้าใจได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ นอกจากนี้ แผนงานดังกล่าวยังให้ความสำคัญในการสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Jobs) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายๆ ภาคธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาทักษะที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน”นายพิพัฒน์ กล่าว
28 กุมภาพันธ์ 2567
ผู้ชม 45 ครั้ง