สถานประกอบกิจการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมเยาวชนตัวแทนประเทศไทย 19 สาขา หวังคว้าเหรียญทองเวทีระดับโลก WorldSkills Lyon 2024 ระหว่างวันที่ 3 – 17 กันยายน 2567 ที่เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส อธิบดีบุปผา ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจทุกสาขาที่ส่งแข่งขัน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 หรือ WorldSkills Lyon 2024 ที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 17 กันยายน 2567 ที่เมืองลียง ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 รวม 4 เดือนเป็นช่วงการเก็บตัวฝึกซ้อมของเยาวชนที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยทั้งหมด 19 สาขารวม 22 คน โดยแต่ละสาขา จะมีการเก็บตัวเยาวชนฝึกซ้อมสาขาละ 2 คน ส่วนประเภททีม จะเก็บตัวฝึกซ้อมสาขาละ 2 ทีม (ทีมละ 2 คน) และหลังจากนี้จะมีการคัดเลือก เหลือเพียงสาขาละ 1 คนหรือ 1 ทีม เพื่อเป็นตัวแทนเดินทางไปแข่งขันที่ฝรั่งเศส ในส่วนของการฝึกซ้อมนั้นมีสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานประกอบกิจการให้การสนับสนุนเป็นเจ้าภาพจัดหาสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อม จัดหาพี่เลี้ยง วิทยากร และวัสดุที่ใช้ในการฝึกซ้อมให้ด้วย จึงต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน ระดับภาค ระดับชาติ ระดับอาเซียนและระดับเอเชีย เพราะหากเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ นั่นหมายถึงศักยภาพของแรงานไทย ที่สามารถแสดงให้นักลงทุนชาวต่างชาติได้มองเห็นและเชื่อมั่นในฝีมือแรงงานไทย ซึ่งในวันนี้ได้มีโอกาสตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมของเยาวชน สาขาการประกอบอาหาร ณ วิทยาลัยการแรงงาน สาขานี้มีตัวแทนที่เข้าร่วมเก็บตัวเพื่อคัดเลือก จำนวน 2 คน ได้แก่ นายธนกร ช่วงรัตนาวรรณ ต้นสังกัด วิทยาลัยดุสิตธานี และนายจิรวัฒน์ ชัยกระทาง สังกัดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช พัทยา ทั้งนี้ทางมูลนิธิ SCG ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเก็บตัวฝึกซ้อมจนถึงเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ รวมมูลค่า 3,000,000 บาทใน 3 สาขา คือ สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย สาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม และสาขาการประกอบอาหาร และจากการสอบถามผู้ฝึกสอนแจ้งว่า น้อง ๆ ทั้ง 2 คนมีฝีมืออย่างมาก และตั้งใจในการเก็บตัวฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามต้องคัดเลือกตัวแทนเพียง 1 คนเท่านั้น
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวต่อว่า มีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนเป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมในครั้งนี้ทั้ง 19 สาขา ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย ประกอบด้วย
- สาขาการประกอบอาหาร ฝึกซ้อมที่วิทยาลัยดุสิตธานี มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- สาขาอุตสาหกรรม 4.0 และสาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) ฝึกซ้อมที่ บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด
- สาขาเมคคาทรอนิกส์ ฝึกซ้อมที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์
- สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ฝึกซ้อมที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนวัตกรรมหุ่นยนต์
- สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม ฝึกซ้อมที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ
- สาขาการจัดดอกไม้ ฝึกซ้อมที่ ร้าน Flower in the Garden จังหวัดสมุทรปราการ และบ้านครูนัทสอนจัดดอกไม้ จังหวัดนครปฐม
- สาขากราฟิกดีไซน์ ฝึกซ้อมที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ
- สาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ ฝึกซ้อมที่วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก อี.เทค และมหาวิทยาลัยศรีปทุม
- สาขาเทคโนโลยีเว็บ และระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ฝึกซ้อมที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก อี.เทค
- สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น ฝึกซ้อมที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน
- สาขาการก่ออิฐ ฝึกซ้อมที่ Wall and Floor Technology Center บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด สระบุรี
- สาขาการปูกระเบื้อง ฝึกซ้อมที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนา ช่างฝีมือบุญถาวร ปทุมธานี
- สาขาการซ่อมตัวถังรถยนต์ และสาขาการซ่อมสีรถยนต์ ฝึกซ้อมที่บริษัท เค คอนซัลติ้ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ขอนแก่น
- สาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ฝึกซ้อมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี โรงแรมเซ็นทรา ไลฟ์ชะอำ บีช รีสอร์ท เพชรบุรี และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว
- สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย ฝึกซ้อมที่ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
- สาขาการแต่งผม ฝึกซ้อมที่ร้านโอเอซิส ซาลอน สาขาอ่อนนุช กรุงเทพฯ โรงเรียนออกแบบทรงผมอาดัม สมุทรปราการ และสถาบันธงชัย แฮร์เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ
"ทุกท่านสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวการเก็บตัวของเยาวชนได้ที่เฟซบุ๊ก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ WorldSkills Thailand ร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้เยาวชนไทยไปด้วยกัน" อธิบดีบุปผากล่าวในท้ายสุด
30 พฤษภาคม 2567
ผู้ชม 24 ครั้ง