นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อนายจ้าง/สถานประกอบการมีแรงงานเพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการ และไม่กระทบต่อการมีงานทำของคนไทย รวมทั้งแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี โดยสั่งการเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจะปฏิบัติการอย่างเข้มข้น “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน" เป็นระยะเวลา 120 วัน โดยล่าสุดได้รายงานผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 – 12 มิถุนายน 2567 รวม 7 วัน มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศแล้ว 1,774 แห่ง ดำเนินคดี 53 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 26,189 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 20,111 คน กัมพูชา 3,971 คน ลาว 1,659 คน เวียดนาม 4 คน และสัญชาติอื่น ๆ 444 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 240 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 190 คน กัมพูชา 8 คน ลาว 38 คน และสัญชาติอื่น ๆ 4 คน
นายสมชาย กล่าวว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้กระจายกำลังลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่กระทำผิดกฎหมาย ทั้งการตรวจสอบตามที่พลเมืองดีแจ้งเบาะแสและการสุ่มตรวจในสถานประกอบการ และบริเวณที่พบแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก อาทิ ย่านตลาดพระโขนง ไซต์งานก่อสร้าง เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ตลาดไอยรา จังหวัดปทุมธานี โรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง ไฟแอลอีดี ในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โรงงานแม่พิมพ์ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงงานแปรรูปไม้ ในจังหวัดระนอง ไซต์งานก่อสร้าง ในจังหวัดปัตตานี เป็นต้น พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ปฏิบัติตามพรก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมติครม.ในคราวต่าง ๆ ให้ถูกต้อง
“สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
14 มิถุนายน 2567
ผู้ชม 28 ครั้ง