นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ย้ำ สิทธิการรักษาพยาบาล “กรณีเจ็บป่วย” ในระบบประกันสังคม ได้รับความคุ้มครองด้วยการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุม โดยผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน 270 แห่ง และสามารถเลือกโรงพยาบาลได้เอง โดยสถานพยาบาลภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานประกันสังคมนั้น เป็นสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิขึ้นไป มีมาตรฐานทางการแพทย์ มีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสามารถให้บริการในทุกสาขาที่จำเป็นได้อย่างครบวงจร หากเกินศักยภาพในการรักษา สามารถส่งต่อไปยังสถานพยาบาลระดับสูงกว่าทันที
ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง เช่น SSO515 ให้ผู้ประกันตนได้รับการผ่าตัดภายใน15 วัน รักษากลุ่มโรคที่ร้ายแรง เช่น กลุ่มโรคมะเร็งโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และการให้สิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไตให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษามากขึ้น การตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อค้นหาความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ได้จัดให้มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ทำงาน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายและไม่เสียเวลาในการทำงาน อีกทั้ง ยังมีการปรับเพิ่มรายการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่เหมาะสมกับผู้ประกันตน เช่น การเอกซเรย์ปอด ทุก 3 ปี และปรับให้ผู้ที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ไขมัน และการทำงานของไต รวมถึงการตรวจปัสสาวะทุกปี โดยเป็นสิทธิเสริมจากการตรวจพื้นฐานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า สิทธิการรักษาของสำนักงานประกันสังคมไม่ด้อยกว่าสิทธิสุขภาพอื่น นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมได้จัดช่องทางให้ผู้ประกันตนประเมินความพึงพอใจการให้บริการทางการแพทย์ และสามารถให้ข้อเสนอแนะหากพบว่ามีการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่าน QR Code ที่ได้ติดไว้ ณ สถานพยาบาลทุกแห่ง โดยสำนักงานประกันสังคมมีความยินดีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกันตนทุกคน
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยแล้ว สำนักงานประกันสังคมยังให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยในส่วนของสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของผู้ประกันตนมาตรา 33 สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนเป็นรายเดือน มีเงื่อนไข ดังนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้ปรับเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
ตัวอย่างการคำนวณบำนาญ จากฐานค่าจ้างที่ใช้ในการนำส่งเงินสมทบเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท
กรณีที่ 1 จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ = 15,000 x 20% = 3,000 บาทต่อเดือน
กรณีที่ 2 ผู้ประกันตนมีระยะเวลาส่งเงินสมทบ 420 เดือน (35 ปี) จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ = 15,000 x 50% = 7,500 บาทต่อเดือน
สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โดยจ่ายเป็นเงินก้อน คำนวณจากเงินสมทบกรณีชราภาพและสงเคราะห์บุตร ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างนำส่ง รวมดอกผลหากส่งเงินสมทบเกิน 12 เดือน
จะเห็นได้ว่าการจ่ายเงินสมทบรายเดือนกับกองทุนประกันสังคมนั้นมิได้สูญเปล่า เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ระหว่างการทำงานแล้ว สำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีอย่างต่อเนื่องอยู่สม่ำเสมอ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ เพราะสำนักงานประกันสังคมพร้อมดูแลท่านทุกช่วงวัย
02 สิงหาคม 2567
ผู้ชม 54 ครั้ง