(6 มกราคม 2568) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี - ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และบริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ลงนามความร่วมมือในโครงการ “การพัฒนากับดักราแมลงกำจัดปลวก” ซึ่งมุ่งวิจัยราแมลงและพัฒนากับดักสำหรับกำจัดปลวกในที่อยู่อาศัย โดยใช้วิธีชีวภาพ (Biocontrol) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ภายใต้การสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สวทช. โดยตั้งเป้าสร้างกับดักปลวกชีวภาพ 100% ด้วยการใช้ราแมลงแทนสารเคมี พิธีลงนามจัดขึ้นโดยมี ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค และ นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ กรรมการบริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พร้อมด้วยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ เข้าร่วมงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า จากข้อได้เปรียบเรื่องทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพสูงของไทย สวทช. โดยศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) ได้รวบรวมจัดทำคลังจุลินทรีย์ของประเทศ ซึ่งมีทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ เป็นจำนวนมาก โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค ได้มุ่งค้นหาและศึกษาจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นชีวภัณฑ์ด้านการเกษตรที่โดดเด่นจาก TBRC ปัจจุบันสามารถถ่ายทอดออกสู่ภาคเอกชน และผลักดันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชเพื่อใช้ในการเกษตรหลายชนิด อาทิ ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) สำหรับควบคุมแมลงกลุ่มเพลี้ย ราเมตาไรเซียม (Metarhizium) สำหรับควบคุมไรแดง เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ดังเช่นในการลงนามริเริ่มโครงการ “การพัฒนากับดักราแมลงกำจัดปลวก” ในครั้งนี้ เพื่อขยายผลสู่แมลงรบกวน ที่เป็นปัญหาสำคัญในครัวเรือน
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า ITAP เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ได้ร่วมให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการกับ บริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถผลักดัน “กับดักราแมลงกำจัดปลวก” ให้สามารถใช้งานได้ดีและเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ เพื่อจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยต่อไป
ด้าน นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ กรรมการ บริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า บริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือบริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ภายใต้การขับเคลื่อนของ นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “แบรนด์ ทีโพล์” ที่ผ่านมาบริษัทฯ ทำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ในครัวเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย และผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงในบ้านเรือน จนถึงกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรม และอนาคตจะพัฒนาถึงกลุ่มโรงงานผลิตยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยทิศทางของบริษัทฯ เรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์กำจัดแมลง ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอของเราให้ถึง 20% และสร้างระบบสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเราได้ง่ายขึ้น
“ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่คือคำมั่นสัญญาของเราที่จะช่วยเกษตรกรและรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทของเราพร้อมแล้วที่จะนำพาอุตสาหกรรมนี้ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า” ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับบริษัทฯ การเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายทางธุรกิจ แต่ยังเป็นพันธกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน
และ ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันมนุษย์ให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมการเป็นอยู่ที่ปลอดภัย จึงหันมาเลือกใช้สิ่งของอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ลดสารเคมีลง ชีวภัณฑ์จึงเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้ควบคุมศัตรูพืชต่าง ๆ ที่มีความยั่งยืน นำไปสู่การศึกษาประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ราแมลงที่มีความสามารถในการฆ่าแมลงที่จำเพาะเจาะจงในปลวก Coptotermes gestroi สำหรับพัฒนาเป็นกับดักปลวกแบบชีวภาพ (100% organic) โดยใช้ราแมลงทดแทนสารเคมีกำจัดแมลงได้ในอนาคต
โดยในการศึกษาวิจัยด้านการใช้ชีวภัณฑ์ราแมลง เพื่อกำจัดปลวกบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากปลวกบ้าน (Coptotermes gestroi) เป็นศัตรูสำคัญและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างอาคารและบ้านเรือน ปัจจุบันวิธีที่ใช้อยู่คือสารเคมี การใช้ราแมลงมาควบคุมเป็นแนวทางใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ในการจัดการปลวกบ้านแบบธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การลดหรือทดแทนสารเคมีได้ในอนาคต ทั้งนี้ ปลวกบ้าน นับเป็นหนึ่งในศัตรูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก สามารถกัดกินวัสดุและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างไม้ทุกที่ทั้งอาคารบ้านเรือน สำนักงาน โรงเรียน และสถานที่ราชการ เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยหรือใช้งาน การใช้สารเคมีป้องกัน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน สัตว์เลี้ยง ตามมามากมาย การใช้ชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมปลวกบ้าน จึงนับเป็นแนวทางเพื่อลดใช้สารเคมี และส่งเสริมสุขภาพของคน สัตว์เลี้ยง และรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูเพิ่มเติม
ราแมลง คือ ราที่ก่อโรคในแมลงและแมง โดยราจะเข้าไปอาศัยในตัวแมลงเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร ราจะค่อยๆ เจริญเติบโตจนแมลงเจ้าบ้านตายในที่สุด และจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสปอร์งอกบนซากของแมลง สปอร์ราที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้วก็พร้อมเข้าทำลายแมลงเจ้าบ้านตัวใหม่ต่อไป ราแมลงสามารถพบได้ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่การเกษตรที่ปลอดสารเคมี จัดว่าเป็นการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ควบคุมแมลงได้ดีขึ้น ไม่มีสารพิษตกค้าง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค
08 มกราคม 2568
ผู้ชม 12 ครั้ง