วันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุม URBINO โรงแรมเดอะ พาลาซโซ กรุงเทพฯ
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานฝีมือ สร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่แรงงานทุกกลุ่มและส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งมาตรการอย่างหนึ่ง คือ มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ดำเนินการตามมาตรา 26 ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่ส่งเสริมให้นายจ้าง และสถานประกอบกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน กำหนดอัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนตามทักษะฝีมือ พิจารณาเลื่อนตำแหน่งงาน พัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งส่งผลดีต่อสถานประกอบกิจการในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยลดการสูญเสียในวงจรการผลิตลดต้นทุน ลดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้ โดยทุกขั้นตอนจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับ สพร.หรือ สนพ.ในการจัดตั้งคณะทำงานในการวิเคราะห์ตำแหน่งงาน จัดทำข้อสอบภาคความรู้ ภาคความสามารถ วิเคราะห์ข้อสอบ จัดทดลองทดสอบให้แก่พนักงาน เพื่อขอหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพแล้วนำไปใช้ได้ทันที
นายเดชา กล่าวต่อไปว่า และเพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จึงมีการจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น โดยมีบรรยายชี้แจงเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 และแบ่งกลุ่มย่อมทำงานภาคปฏิบัติจัดทำกฎเกณฑ์ระเบียบ ข้อสอบภาคความรู้ ความสามารถ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายให้สพร.และสนพ. ร่วมกับสถานประกอบกิจการสามารถจัดทำหรือปรับปรุงมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 ได้อย่างน้อยหน่วยงานละ 1 สาขา โดยมีผู้เข้าสัมมนาจำนวน 80 คน
“การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพมาตรา 26 เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากนายจ้างและสถานประกอบกิจการร่วมกับหน่วยงานของกรมฯ ดำเนินการ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวัดทักษะและกำหนดค่าจ้างให้แก่พนักงานของตนเอง ซึ่งพนักงานที่มีทักษะฝีมือได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะในหมู่พนักงาน จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการที่สนใจ เข้าร่วมจัดทำมาตรฐานดังกล่าว สอบถามข้อมูลได้ที่ สพร. หรือ สนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือกองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน 02-2451822, 02-6434987 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดี กพร.กล่าว
17 มกราคม 2568
ผู้ชม 7 ครั้ง