16 มกราคม 2568 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมการจัดหางาน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ โดยจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร 5 สันทการ การเคหะแห่งชาติ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
จ่าเอก ประยงค์ บุญช่วย ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาลโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น จึงให้ความสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานมาโดยตลอด ในครั้งนี้ความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะด้านอาชีพ ทั้งในด้าน RESKILL และ UPSKILL เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ส่งเสริมการมีงานทำ สร้างโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ได้สะสมประสบการณ์ด้านอาชีพมีงานทำในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน และได้รับประสบการณ์ในการทำงานจริง รู้จักความอดทนมีระเบียบวินัย ได้เรียนรู้โลกของอาชีพให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติทุกช่วงวัยมีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ
จ่าเอก ประยงค์ กล่าวต่อไปว่า ทั้ง 4 หน่วยงาน จะร่วมกันจัดฝึกอบรมนำร่องในหลักสูตรตามความต้องการและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี สงขลา ปทุมธานี เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และขอนแก่น โดยการเคหะแห่งชาติจะคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากผู้อยู่อาศัยในชุมชน เข้าฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรยกระดับฝีมือให้แก่ช่างในชุมชน เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเดินท่อ และติดตั้งสุขภัณฑ์ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้าน และการพาณิชย์ขนาดเล็ก เป็นต้น และจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าว 2) หลักสูตรระยะสั้น (18-30 ชั่วโมง) ให้แก่ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพอิสระ เช่น การประกอบอาหารไทย การตัดเย็บเสื้อผ้า การทำกรอบรูป การชงเครื่องดื่มสมุนไพร การชงกาแฟ การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น และ 3) หลักสูตรระยะยาว (240 ชั่วโมง) โดยให้กรมการจัดหางานประสานสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับตำแหน่งงานว่างและการบรรจุเข้าทำงานภายหลังจากจบฝึกอบรมแล้ว รวมทั้งการเคหะแห่งชาติจะประสานให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดส่งทีมหน่วยศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) มาให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนให้แก่ประชาชนที่อยู่ในชุมชน และส่งเสริมให้ผู้ที่จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นที่อาศัยในชุมชนเข้ารับการศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
“กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มุ่งส่งเสริมให้แรงงาน พัฒนาตนเองตลอดเวลา เพื่อเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว ยังส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติอีกด้วย ในนามของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ ผู้สนใจฝึกอบรม/ทดสอบมาตรฐานฝีมือกับกรม สามารถสมัครได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” ผู้ตรวจราชการกรม กล่าวในท้ายสุด
17 มกราคม 2568
ผู้ชม 13 ครั้ง