3 เยาวชนดีเด่น ค่าย “เพาเวอร์กรีน” ปีที่ 12 ของบ้านปูฯ เดินทางสู่ญี่ปุ่น
เรียนรู้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล
จากประเทศสิ่งแวดล้อมต้นแบบ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิกที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเยาวชนดีเด่น 3 คน จากโครงการ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 12 เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่เจริญล้ำหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ตลอดจนอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สอดคล้องกับหัวข้อของโครงการฯ ปีที่ 12 “เศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลอย่างไรให้ยั่งยืนในยุคไทยแลนด์ 4.0” มุ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีหัวใจรักและห่วงใยโลกได้เปิดโลกทัศน์ พร้อมเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศที่มีความพร้อมและเป็นต้นแบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
การทัศนศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ต่อยอดจากโครงการค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ปีที่ 12 โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Performance Index: EPI เป็นลำดับที่ 20 จากทั้งหมด 180 ประเทศ หรือเป็นลำดับที่ 2 ในทวีปเอเชียรองจากอิสราเอล[1] นับเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมลำดับต้นๆ ของโลก ในทริปนี้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ได้แก่
กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นที่เด่นชัด
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development Policy) และนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Policy) ที่บ้านปูฯ ใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อม ปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ที่บริษัทฯ ผลักดันเยาวชนให้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านความหลากหลายทางชีวภาพในต่างประเทศ โดยบ้านปูฯ เชื่อว่า ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปูฯ ดำเนินธุรกิจทางด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน การเดินทางในครั้งนี้นอกจากจะช่วยเปิดโลกทัศน์ แล้วยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด และหวังว่าเด็กๆ กลุ่มนี้จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศในอนาคต สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
เยาวชนทั้ง 3 คน ที่ได้รับโอกาสเดินทางไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ได้แก่ 1) นายอัครพันธ์ ทวีศักดิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดปทุมธานี 2) นางสาวฐานิญา เมธาสมิทธ์กุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนธิดานุเคราะห์ และ 3) นางสาวภัทรลดา สิทธิพล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสารคามพิทยาคม น้องๆ ทุกคนรู้สึกประทับใจกับประสบการณ์ 5 วันเต็ม ที่พวกเขาได้เรียนรู้และเปิดโลกทัศน์จากการทัศนศึกษาครั้งนี้และต่างเก็บเกี่ยวความรู้ในแง่มุมที่พวกเขาสนใจต่อเนื่องตลอดทริป
นายอัครพันธ์ ทวีศักดิ์ หรือ น้องไอซ์ กล่าวว่า “สถานที่แต่ละแห่งมีการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความหลากหลายทางชีวภาพ การอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน ไปจนถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างแต่เด่นชัด ประทับใจตอนที่ได้เห็นการทำงานของโรงเผาขยะ Shin-Koto Incineration Plant ที่สามารถจัดการขยะและพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการต่างๆ ในการทำงานของโรงงานไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการปลูกฝังคนในโรงงานและชุมชนรอบข้างให้มีใจรักในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การเดินทางมาทัศนศึกษาในครั้งนี้ช่วยให้ได้เปิดโลกทัศน์ และนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้แก่เพื่อนๆ นับเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต”
ด้าน นางสาวฐานิญา เมธาสมิทธ์กุล หรือ น้องมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า “พอรู้ว่าตัวเองจะได้ไปทัศนศึกษาที่ญี่ปุ่นก็รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากๆ จากทริปนี้ ชอบเขตสงวนชีวมณฑล เมืองมินาคามิ ที่เป็นหนึ่ง
ใน UNESCO Eco Park มากที่สุด เพราะทุกอย่างมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบระเบียบ มีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละพื้นที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รอบนอกที่เป็นย่านอยู่อาศัย พื้นที่กันชนที่จัดไว้เพื่อการศึกษา และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไปจนถึงพื้นที่แกนกลางที่ดำเนินงานอย่างเข้มงวด คุ้มครองด้วยกฎหมาย เพื่อการอนุรักษ์ระยะยาว อยากขอบคุณทางค่ายฯ ที่พาไปรู้จักและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นทริปที่เหมือนฝัน เพราะถ้าทางโครงการฯ ไม่พามา ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีโอกาสมาทัศนศึกษาที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพแบบนี้ได้หรือเปล่า”
นางสาวภัทรลดา สิทธิพล หรือ น้องนันท์ กล่าวเสริมจากเพื่อนๆ พร้อมเชิญชวนเยาวชนที่สนใจให้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า “สถานที่ทุกแห่งที่ได้ไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ต่างก็ให้ข้อมูลและความรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป รู้สึกว่าการที่ค่ายฯ พามาต่างประเทศเป็นโอกาสที่ดีมากๆ รู้สึกสนุกที่ได้มายังสถานที่ใหม่ๆ ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ชอบตอนที่ได้ไปศึกษาวิธีการเก็บสาเกที่ Uonuma-no-sato Sake Brewery เพราะทำให้ได้รู้ว่าเราสามารถนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน หากนำวิธีเดียวกันนี้มาประยุกต์ใช้ที่ประเทศไทย ก็จะสามารถรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมไปถึงนำเอานวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้อย่างสมดุล อยากชวนน้องๆ และเพื่อนๆ ที่มีความสนใจทางด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมเข้าค่ายเพาวเวอร์กรีนกันเยอะๆ เพราะจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน เปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างไกล และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย”
สำหรับเยาวชนที่สนใจอยากเปิดโลกทัศน์และเข้าร่วมค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
“ค่ายเพาเวอร์กรีน 13” ที่จะจัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน ระหว่างวันที่ 18-25 ตุลาคม 2561 ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครและข้อมูลต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.powergreencamp.com เฟซบุ๊ค www.facebook.com/powergreencamp หรือ
โทร. 0 2441 5000 ต่อ 2112
ที่มา : บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
13 มิถุนายน 2561
ผู้ชม 271 ครั้ง