รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดการอบรมวิทยากรต้นแบบ “การสร้างงานที่ดีและมีคุณค่า โดยการส่งเสริมความรับผิดชอบของธุรกิจด้านแรงงานในห่วงโซ่อุปทานเนื้อไก่” สนับสนุน และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของประเทศไทยมีการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เน้นย้ำ การยกระดับคุณภาพของสินค้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 น.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมวิทยากรต้นแบบ “การสร้างงานที่ดีและมีคุณค่า โดยการส่งเสริมความรับผิดชอบของธุรกิจด้านแรงงานในห่วงโซ่อุปทานเนื้อไก่” ณ ห้อง Salon B ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเต็ล กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป
นายสุรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันนานาชาติได้ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาลด้านแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยการนำประเด็นด้านแรงงานและความยั่งยืนมาระบุเป็นข้อกำหนดสำคัญในการเจรจาทางการค้าเสรีและให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP (จีเอสพี) ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศพยายามออกกฎหมายให้ภาคธุรกิจต้องมีการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน ให้มีการเคารพสิทธิแรงงาน ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ต่างคาดหวังให้ผู้ผลิตและคู่ค้าที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศภาคธุรกิจไทย จึงจำเป็นต้องตื่นตัวและมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานแรงงานของตนและคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และสร้างการยอมรับจากผู้บริโภค
กระทรวงแรงงาน มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานตามกฎหมาย มีการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย โดยให้ความสำคัญต่อการยกระดับกฎหมายแรงงานไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และพัฒนาระบบการตรวจแรงงานให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน โดยได้มีการส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001) หรือแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) และนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และภาคธุรกิจชั้นนำทั้งสามบริษัท ได้แก่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายแรงงานและการสร้างงานที่มีคุณค่า ทุกท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี่ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างสภาพการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพของสินค้าตอบรับกับความคาดหวังของสังคมและผู้บริโภค ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อให้สังคมเราก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นายสุรชัย กล่าวในท้ายสุด
ด้านนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยดูแลพนักงานในสถานประกอบการ โรงงาน และฟาร์ม และยังส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในโครงการคอนแทร็คฟาร์มให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่ดีต่อแรงงาน หรือ Good Labour Practice (GLP) ตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้ บริษัทยังเข้าไปติดตามประเมินผลเป็นประจำทุกปี และการที่ ILO สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่อุปทานไก่เนื้อสู่สากล ซีพีเอฟยินดีและได้เข้าร่วมการอบรมในโครงการ ซึ่งเป็นองค์กรนำร่องนำความรู้และแนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานขององค์กรระดับโลก เพื่อนำไปถ่ายทอดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ดูแลแรงงานของซีพีเอฟด้วยความรับผิดชอบ ก้าวสู่มาตรฐานแรงงานสากลอย่างยั่งยืน
12 พฤศจิกายน 2563
ผู้ชม 253 ครั้ง