ก.แรงงาน สู้โควิด-19 จับมือบ. แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด พัฒนาช่างก่อสร้าง สร้างงานสร้างรายได้
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของกำลังแรงงาน สถานประกอบกิจการหลายแห่งมีการพักงานหรือเลิกจ้าง ทำให้มีแรงงานตกงานว่างงานจำนวนมาก แต่กิจการด้านการก่อสร้างกลับได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกิจการอื่นๆ ซึ่งการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร อาคารสสำนักงาน รวมถึงงานซ่อมแซมที่พักอาศัยยังคงดำเนินการอยู่ และมีความต้องการแรงงานฝีมือ เป็นจำนวนมาก กพร. ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นให้กพร.ใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ ให้เป็นแรงงานคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งความร่วมมือกับบริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด ในการพัฒนา ช่างก่อสร้างโดยเฉพาะช่างปูกระเบื้องและก่ออิฐ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายกระทรวงแรงงานดังกล่าว
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในปีที่ผ่านมา (2563) ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันจัดฝึกอบรมหลักสูตรการ ฝึกยกระดับฝีมือ สาขาการปูกระเบื้องโดยใช้วัสดุกาวซีเมนต์และวัสดุยาแนวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Job) และสาขาการก่ออิฐมวลเบาและทำกันซึมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน ระยอง สุราษฎร์ธานี ชุมพร เพชรบูรณ์ และอุบลราชธานี มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 318 คน สำหรับในปี 2564 วางแผนฝึกอบรมทั้ง 2 สาขา ในจังหวัดน่าน ระยอง สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และเพิ่มเติมอีกในจังหวัดนครศรีธรรมราช สิงห์บุรี และนครราชสีมา เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นช่างชุมชน ช่างปูกระเบื้อง แรงงานที่ต้องการยกระดับทักษะฝีมือ และประชาชนทั่วไป จะเน้นฝึกอบรมภาคปฏิบัติในการช่วยเหลือสังคมและชุมชน โดยใช้สถานที่ของวัด โรงเรียน และโรงพยาบาล ที่ต้องการปูกระเบื้องและก่ออิฐมวลเบาในการฝึกอบรม คาดว่า จะมีผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 350 คน และมีแผนการฝึกอบรมทั่วประเทศต่อไป
“กพร. และบริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด มีความตั้งใจอย่างมากที่จะร่วมกันพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจัดฝึกอบรมให้ช่างและประชาชนทั่วไปได้พัฒนาศักยภาพฝีมือ มีทักษะความชำนาญในการติดตั้งผลิตภัณฑ์ก่อสร้างได้อย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน และที่สำคัญก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภายหลังสถานการณ์สิ้นสุดลง” อธิบดีกพร. กล่าว
21 มกราคม 2564
ผู้ชม 352 ครั้ง