คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตอยู่ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษแก่คนต่างด้าวตามมติครม.วันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติครม.วันที่ 4 สิงหาคม 2563 และมติครม.วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 การปรับแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติครม.วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และเพิ่มแนวทางการนำผู้ต้องกัก ออกมาทำงานกับนายจ้างที่มีความประสงค์จ้างงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงการระบาดระลอกใหม่ที่เป็นวงกว้างกระจายไปหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จนทำให้การดำเนินการตามแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีในหลายครั้งที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพและการต่อวีซ่า
ไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติดังกล่าว อยู่ในสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงกลุ่มผู้ต้องกักที่ดำเนินคดีเสร็จสิ้นและรอการส่งกลับ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการปฏิเสธรับแรงงานกลับของประเทศต้นทาง ประกอบกับมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เนื่องจากให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยต่อสุขอนามัยของประชาชนในประเทศไทยเป็นอันดับแรก ตามแนวทางการบริหารของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในทุกมิติ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพไปพร้อมกัน
“ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ เรื่องทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก ดังนี้
1. เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตอยู่ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษให้แก่
คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ออกไปอีก 6 เดือน โดยให้การขยายระยะเวลาดังกล่าวครอบคลุมไปถึงคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 2 ปี ด้วย
2. เห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ดังนี้
2.1 เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 ออกไปถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 รวมแล้วเป็นระยะเวลา 6 เดือน และสำหรับการตรวจโรคโควิด - 19 ยังให้อยู่ในกรอบระยะเวลาเดิม คือ ต้องตรวจโรคโควิด - 19 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน 2564
2.2 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตรของคนต่างด้าวที่มีนายจ้างออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และคนต่างด้าวซึ่งไม่มีนายจ้างที่ในเวลาต่อมามีนายจ้างออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
2.3 เห็นชอบให้มีการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคล (Biometric) โดยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
2.4 เห็นชอบแนวทางการตรวจโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้สถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจโรคโควิด - 19 ให้กับคนต่างด้าวได้ สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลเรียกเก็บให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
2.5 เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดแล้วตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด - 19 หากได้รับการรักษาจนหายให้สามารถกลับเข้ามาขอรับอนุญาตทำงานได้แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้หายป่วยจากโรคโควิด – 19
3. เห็นชอบแนวทางการนำผู้ต้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่สมัครใจจะทำงานออกมาทำงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีความประสงค์จะจ้างงาน ” รมว.แรงงาน กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การทบทวนแนวทางการบริหารจัดการ
การทำงานของคนต่างด้าวฯ ตามที่เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 2,335,671 คน ได้แก่
1. กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย
1.1 กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 มีจำนวน 1,162,443 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และ
ขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
1.2 กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2563 มีจำนวน 237,944 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และ
ขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU จำนวน 434,784 คน ประกอบด้วย
2.1 แรงงานต่างด้าวกลุ่ม MoU ตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พฤศจิกายน 2563 มีจำนวน 119,094 คน
2.2 แรงงานต่างด้าวกลุ่ม MoU ที่วาระการจ้างงานครบ 2 ปีแรก 315,690 คน ทั้งสองกลุ่มอยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa จึงขอขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้ทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565
3.กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียน คาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว และความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว เพื่อให้กรมการจัดหางาน
ออกใบอนุญาตทำงานต่อไป
4.กลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งไว้มีจำนวนประมาณ 500 คน
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ
27 มกราคม 2564
ผู้ชม 229 ครั้ง