รายละเอียดบริษัทและสวัสดิการ
วิสัยทัศน์
มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มุ่งมั่นผลักดันให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้พวกเขากำหนดชะตาชีวิตได้ด้วยตนเอง
ที่มาและความสำคัญ
ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องคุณภาพและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังจะเห็นได้ว่า ความรู้ทางวิชาการโดยเฉลี่ยของเด็กไทยวัย 15 ปี ด้อยกว่าความรู้เฉลี่ยของเด็กทั่วโลกถึง 2 ปี นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังชี้ให้เห็นว่า ทุก ๆ ปีจะมีเด็กไทยอายุ 15 - 19 ปี ออกจากการเรียนกลางคันมากถึง 32% ปัญหาดังกล่าวพบมากในโรงเรียนตามชุมชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจส่งผลให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสในเขตกรุงเทพมหานครมีทักษะการอ่านที่ต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 3.8 ปี หรือมีโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อน้อยกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่า
อุปสรรคสำคัญสามประการที่ทำให้เด็กไทยประสบปัญหาเหล่านี้ คือ โรงเรียนและระบบการศึกษา (อันหมายรวมถึงความขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ ของโรงเรียน การบริหารจัดการโรงเรียน คุณภาพของบุคลากรครู การประเมินผลการเรียน และการปกครอง) ทั้งยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปกครองดูแลบุตรหลาน และนำไปสู่การออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควรของเยาวชน เช่นเดียวกับค่านิยมต่าง ๆ ที่ฝังรากลึก เช่น การขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้เนื่องจากความอ่อนด้อยทางวิชาการของเด็กนักเรียนในชุมชนรายได้น้อย และทัศนคติที่มีต่อวิชาชีพครู ซึ่งเป็นผลให้ภาคการศึกษาไทยขาดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง และขาดการแก้ปัญหาวิกฤติทางการศึกษานี้อย่างจริงจัง ก่อให้เกิดวงจรของปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
แนวทางแก้ไขปัญหา
มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สรรหาบุคคลที่มีศักยภาพสูงจากทุกสาขาวิชาที่ตระหนักถึงปัญหาสังคมและปัญหาการศึกษา มีความเป็นผู้นำ และพร้อมจะแปรศักยภาพของตนเองเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อระบบการศึกษา เข้าร่วมโครงการ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” เป็นเวลา 2 ปี โดยมุ่งหวังให้ผู้นำเหล่านี้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบุคคลต้นแบบที่มากกว่าผู้ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นให้แก่เยาวชนในโรงเรียนขยายโอกาสเหล่านี้ ทั้งนี้ ในระยะยาว เรามุ่งสร้าง “เครือข่ายผู้นำ” ที่จะร่วมกันทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับห้องเรียน โรงเรียน และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันได้ในที่สุด