เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่เสียชีวิตและบาดเจ็บบริเวณไซต์งานก่อสร้างในนครนิวไทเป ที่ไต้หวันว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความเสียใจและห่วงใยแรงงานไทยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศถือเป็นวีรบุรุษและตัวแทนของประเทศไทยที่มีความเสียสละออกไปทำงานในต่างแดนเพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัวและนำรายได้เข้าประเทศ จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานดูแลช่วยเหลือในเรื่องสิทธิประโยชน์ทุกอย่างแก่ทายาทแรงงานไทยที่เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บให้เร็วที่สุด โดยสิทธิประโยชน์เบื้องต้นของนายจักริน พวงเกต แรงงานไทยที่เสียชีวิต มีดังนี้ 1) เงินค่าทำศพ 5 เดือนของค่าจ้างที่แจ้งเอาประกัน ประมาณ 120,000 เหรียญไต้หวัน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 141,393 บาท 2) เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นนายจักรินเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเมื่อปี 2549 จึงมีสิทธิ์รับเงินจำนวน 40 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน เป็นเงินประมาณ 960,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,132,800 บาท) 3) เงินเยียวยาจากกองแรงงาน นครนิวไทเป 100,000 เหรียญไต้หวัน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 117,830 บาท 4) เงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายของการทำงาน เป็นเงิน 30,000 เหรียญไต้หวัน ประมาณ 35,400 บาท 5) เงินชดเชยเยียวยาจากนายจ้าง ซึ่ง สนร. ไทเป จะเจรจาเรียกร้องเงินเยียวยาจากนายจ้างเพื่อชดเชยให้ทายาทได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ และ 6) เงินสงเคราะห์จากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีเสียชีวิต จำนวน 40,000 บาท ขณะนี้รวมยอดเงินที่ได้รับสำหรับแรงงานไทยที่เสียชีวิต 1,467,423 บาท
สำหรับการฌาปนกิจศพนั้น สนร.ไทเป ได้ประสานแรงงานจังหวัดศรีษะเกษและบริษัทจัดหางานไทยเพื่อจัดทำหนังสือมอบอำนาจพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยจะเร่งรัดดำเนินการเพื่อส่งอัฐิให้ทายาทรับไปบำเพ็ญกุศลภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ทางด้าน นายนพพล นาจอมเทียน แรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์ โดย สนร.ไทเป ได้เจรจาขอให้นายจ้างรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ระหว่างนี้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติและจะเจรจาให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเยียวยาอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ญาติและครอบครัวของแรงงานไทยทั้งสองคน ยังได้ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ความห่วงใยและสั่งการกระทรวงแรงงานให้ส่งแรงงานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่เข้ามาพูดคุยเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจถึงที่บ้าน พร้อมให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดความอบอุ่นแก่ครอบครัวของแรงงาน ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
22 พฤศจิกายน 2564
ผู้ชม 219 ครั้ง