กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จัดประชุมภาคีเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) พุ่งเป้าลดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วยระบบทวิภาคี เริ่มนิคมฯ เวลโกรว์ เป็นต้นแบบ
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดการประชุมภาคีเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ว่า การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ถือเป็นสิ่งสำคัญในการลดปัญหาข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทแรงงาน ทำให้เกิดความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในสถานประกอบกิจการด้วยระบบทวิภาคี ตามนโยบายส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤติ ของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Disruptive Technology) ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานตามโลกยุคดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการทำงาน ซึ่งกระทบต่อการบริหารกิจการของนายจ้างทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของลูกจ้างอย่างรุนแรง รวมทั้งการจ้างงานที่มีแนวโน้มจะมีความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความท้าทายด้านแรงงานในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรแรงงานในสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนะเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ การลงนามในบันทึกแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีเพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์นี้ มีความรับผิดชอบบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันภายใต้กฎหมายซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ชั้น 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับเกียรติจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายกิตติ เหลืองรุจินัทท์ ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ในการลงนามบันทึกแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีเพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ ผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง จากสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จำนวน 40 คนจากสถานประกอบกิจการ 20 แห่ง และผู้เข้าประชุมผ่าน Video Conference โดยมุ่งหวังให้นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบแรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งแรกของประเทศไทย
14 ธันวาคม 2564
ผู้ชม 244 ครั้ง