ค้นหางานด่วน !

“รมว.เฮ้ง” รับข้อสั่งการ “ศบค.” เตรียมเปิดนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามม.64 ทำงานไป-กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด

หมวดหมู่: ข่าวเด่นวันนี้

 

          ศบค. เห็นชอบ แนวทางการนำเข้าแรงงานตาม ม.64 ใน 8 จังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว ตราด เชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนอง กระทรวงแรงงานเร่งประสานจังหวัดเตรียมความพร้อมสถานที่กักตัว หลังพบนายจ้างในพื้นที่ต้องการแรงงานข้ามชาติ กว่า 3 หมื่นคน ทำงานบริเวณชายแดนแบบไป - กลับ

 

 

          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม เข้มงวด และครบถ้วน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานจึงเร่งวางแนวทางการนำคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ( มาตรา 64) หลังจากสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวของนายจ้าง สถานประกอบการ และพบความต้องการจ้างแรงงานในพื้นที่ 8 จังหวัด จำนวน 32,479 คน จึงมอบหมายกรมการจัดหางานเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 64 ต่อไป
          “กระทรวงแรงงาน มีการเปิดให้นำเข้าแรงงานชาวกัมพูชามาทำงานตามฤดูกาลกับผู้ปลูกลำไยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา พบมีนายจ้างสถานประกอบการนำเข้าแรงงาน จำนวน 708 ราย เป็นแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,856 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.พ. 65) ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและประเมินแล้วว่ามีความพร้อมที่จะเปิดนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ. ศ. 2560 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่ 8 จังหวัด แบ่งเป็น สัญชาติกัมพูชาในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว และตราด สัญชาติเมียนมา ในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนองโดยดำเนินการตามแนวทางเดียวกับการนำแรงงานกัมพูชาทำงานในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

          นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เตรียมความพร้อมสถานที่กักตัวทั้งสิ้น 17 แห่ง มี 476 ห้อง รองรับได้ 1,368 คน เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชาที่เดินทางมาทำงานในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว และตราด ทั้งสิ้น 11 แห่ง 291 ห้อง รองได้ 1,038 คน และเป็นสัญชาติเมียนมาที่เดินทางมาทำงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนอง ทั้งสิ้น 6 แห่ง 185 ห้อง รองรับได้ 330 คน โดยใช้มาตรการเหมือนกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คือ ให้มีพื้นที่ดูแลก่อนเข้ามาทำงาน

“กรมการจัดหางานจัดทำแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมชาและเมียนมาเข้ามาทำงานภายใต้สถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) โดยมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
          1. นายจ้างประสานลูกจ้าง เพื่อจัดเรียมเอกสารและนัดหมายวันเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้แรงงานต่างต้าวเตรียมหลักฐาน ได้แก่ หลักฐานการตรวจโควิด - 19 โดยวิธี RT- PCR ไม่เกิน 72 ชม.ก่อนเดินทางเข้ามา หรือผลรับรองการตรวจ ATK เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และบัตรผ่านแดนที่ประเทศต้นทางออกให้ หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด
          2. ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการตรวจโควิด - 19 และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดำเนินการตรวจโรคตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าว และทำประกันสุขภาพระยะเวลา 3 เดือน และออกใบรับรอง ต.8
          3. ด่านตรวจคนเข้าเมืองฯ ดำเนินการตรวจบัตรผ่านแดนที่ประเทศต้นทางออกให้ หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด และดำเนินการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรในบัตรผ่านแดน เป็นระยะเวลา 30 วันต่อครั้ง
          4. สถานที่กักตัว โดยคนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วให้เข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 7 วัน และให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด - 19 โดยวิธี RT - PCR จำนวน 2 ครั้ง กรณีตรวจพบเชื้อให้เข้ารับการรักษาโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา
          5. การขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดฯ ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร และออกใบอนุญาตทำงานแบบ บต.40 ไม่เกิน 3 เดือน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

18 กุมภาพันธ์ 2565

ผู้ชม 214 ครั้ง

ผู้เข้าชมเว็บไซต์ : 24711944
Engine by shopup.com