กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยว ในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช มุ่งเป้าฝึกทักษะแรงงานกว่า 800 คน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) อย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาเศษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช รองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ด้านดิจิทัล และด้านภาษาต่างประเทศซึ่งสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว และมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการฝึกทักษะให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม ส่งเสริมให้เป็นแรงงานคุณภาพเพื่อเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการในพื้นที่
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับการท่องเที่ยวและบริการให้มีมูลค่าสูงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ กลุ่มเป้าหมาย เป็นแรงงานในสถานประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และแรงงานทั่วไป เป้าหมาย 680 คน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบนดำเนินการ ใน 4 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 สุราษฎร์ธานี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 22 นครศรีธรรมราช สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานระนอง และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานชุมพร โดยจัดฝึกอบรมทักษะให้แก่แรงงานในหลักสูตร ที่เกี่ยวกับการรองรับการท่องเที่ยว เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับพนักงานโรงแรม การยกระดับคุณภาพงานบริการที่เป็นเลิศ การทำเบเกอรี่ บาริสต้ามืออาชีพ การแปรรูปอาหารทะเล การนวดอโรมา นวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก (หัตถบำบัด) การสร้างอินโฟกราฟฟิกเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ การท่องเที่ยววิถีไทยในชุมชนยุค Thailand 4.0 การประกอบธุรกิจร้านกาแฟ และการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ
โครงการดังกล่าว ช่วยก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีความยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างโอกาสในการสร้างรายได้ของชุมชนและภาคธุรกิจ รายได้ภาคการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากนำไปผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อยอดสู่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คงจะไม่ได้เน้นพื้นที่อีอีซีเพียงด้านเดียว หากทว่าอีอีซีคงจะเป็นต้นแบบ หรือ เป็นโมเดลที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรอื่นๆ นอกเหนือจากโครงการดังกล่าว สามารถดูหลักสูตรเปิดฝึกอบรมได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หัวข้อ กำหนดการฝึกอบรม หรือ ติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4
28 เมษายน 2565
ผู้ชม 197 ครั้ง