เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงกรณีที่สื่อมวลชนมีการเผยแพร่ข่าวสาวไทยที่อ้างว่าถูกหลอกไปทำงานที่ดูไบนั้น ซึ่งจากรายงานของนางปลิดา ร่วมคำ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้โดนหลอกดังที่เป็นข่าว เจ้าตัวตั้งใจจะไปประกอบอาชีพนวด แต่นวดไม่เป็น จึงไม่มีลูกค้า และอยากกลับบ้าน โดยลูกสาวไปอ้างกับสื่อว่าโดนหลอกให้ค้าประเวณีและกักขังหน่วงเหนี่ยว ขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกระทรวงการต่างประเทศได้ไปนำตัวออกจากร้านดังกล่าวแล้ว ซึ่งร้านนวดนี้เป็นร้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานไปยังลูกสาวโดยให้จัดซื้อตั๋วเครื่องบินให้แม่ตัวเอง ซึ่งขณะนี้ได้ตั๋วที่จะเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว โดยจะเดินทางกลับในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ และจะถึงไทยในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้
นายบุญชอบ กล่าวเพิ่มเติมถึงรายงานของฝ่ายแรงงานฯ ยังระบุว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฝ่ายแรงงานฯ ได้รับการแจ้งประสานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจดูไบได้แจ้งให้ทางสถานกงสุลใหญ่ดูไบไปรับตัวนางอำพร นันสมบัติ ที่ซีไอดีดูไบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปให้การช่วยเหลือ สอบปากคำ และจะปล่อยตัวกลับ ขณะนี้ นางอำพร นันสมบัติ อยู่ในความดูแลของสถานกงสุลใหญ่ดูไบ เพื่อรอเดินทางกลับประเทศไทย โดย นางอำพร ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ดูใบว่า ได้เดินทางมาดูไบกับหลานสาว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 โดยมีคนชื่ออ้อนเป็นผู้จัดการให้ในประเทศไทย เสียค่าใช้จ่ายให้คนชื่ออ้อน 5,000 บาท แต่เมื่อมาถึงดูไบได้แยกร้านกับหลาน อีกทั้งตนนวดไม่เป็น พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และอายุเยอะแล้ว เมื่อมาถึงก็ไม่มีงานทำ ไม่มีลูกค้า และยังไม่ได้ทำงาน โดยนายจ้างที่ดูไบเป็นคนจีน และได้ตกลงค่าแท็กซี่กับนายจ้างเป็นเงิน 7,500 ดีแรห์ม เมื่อมาถึงพูดภาษาไม่ได้ ไม่มีงานทำ ไม่มีลูกค้า จึงต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งหากจะเดินทางกลับจะต้องจ่ายเงินให้กับนายจ้างเป็นค่าแท็กซี่เดินทางมา จึงได้ติดต่อกับลูกสาวให้ประสานแจ้งกงสุลไทยให้ความช่วยเหลือให้เดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากตนเล่นโทรศัพท์ไม่เป็นและไม่มีเบอร์ติดต่อกงสุลไทย ทั้งนี้ ไม่ได้ถูกบังคับให้ค้าบริการหรือถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ฝ่ายแรงงานฯ ยังรายงานเพิ่มเติมว่า การเข้ามา UAE ด้วยวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าเยี่ยมเยือน แล้วลักลอบทำงาน อาจถูกจับ ติดคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงถึง 10,000 ดีแรห์ม และถูกเนรเทศ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการหลอกลวง ถูกบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายสามารถขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้ทันทีโดยกดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 999 จากโทรศัพท์ ตำรวจจะทราบพิกัดและสามารถเข้าจับกุมและช่วยเหลือได้ทันที
"กระทรวงแรงงาน ขอแจ้งเตือนไปยังคนไทยที่ต้องการจะไปทำงานต่างประเทศขอให้ศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานของกรมการจัดหางานและไปด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และหากต้องการจะพัฒนาทักษะฝีมือด้านการนวดแผนไทย หรือการฝึกอบรมด้านภาษาอังกฤษสามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ที่สถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ จึงไม่อยากให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของแรงงานไทยที่นายจ้างในต่างประเทศให้การยอมรับในทักษะฝีมือของคนไทย รวมทั้งเพื่อไม่ให้กระทบต่อการรักษาฐานตลาดแรงงานเดิมและตลาดแรงงานใหม่ในดูไบอีกด้วย" นายบุญชอบ กล่าวในท้ายสุด
ทั้งนี้ ปัจจุบันการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมี 5 วิธี ได้แก่ กรมการจัดหางานจัดส่ง บริษัทจัดหางานจัดส่ง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศ และคนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง จึงขอแจ้งเตือนไปยังคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศไปทำงานด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายและสมัครเป็นสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครอง หากประสบอันตราย เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ หรือประสบปัญหาในต่างประเทศ โดยสามารถศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th เมื่อประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
03 พฤษภาคม 2565
ผู้ชม 222 ครั้ง