เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 110 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เข้าร่วมด้วย
นายสุชาติ กล่าวว่า ผมขอแสดงความยินดีกับ ILO ในการจัดการประชุมในครั้งนี้ที่เป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟู ที่สำคัญขอขอบคุณ คุณกาย ไรเดอร์ ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้ทุ่มเทในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ก่อนสถานการณ์โควิด ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด Least Development Countries (LDC) ประสบกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ปัจจุบัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรและมีความร่วมมือกับประเทศอาเซียน รวมถึงภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา โดยเฉพาะด้านการประกันสังคม การพัฒนาทักษะอาชีพ และระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ประเทศไทยขอสนับสนุนและแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของผู้อำนวยการใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นของ LDC และบรรจุลงในวาระสำคัญผลกระทบของโควิด – 19 ทำให้เราต้องมีความยืดหยุ่น
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกร่วมก่อตั้ง ILO มีพันธกิจในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม การจ้างงานอย่างมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน โอกาสนี้ รมว.แรงงาน ได้ยกตัวอย่างการดำเนินการที่ดีของประเทศไทยในช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมา
ได้แก่ มาตรการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด – 19 ในสถานที่ทำงาน โดยสามารถกระจายวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น และเข้าถึงแรงงานทุกสัญชาติ เป็นผลให้แรงงานจำนวน 4 ล้านคนได้รับวัคซีนจากกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงมาตรการรักษาการจ้างงานสำหรับ SMEs สามารถที่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 4 แสนแห่ง และรักษาการจ้างงานให้กับแรงงาน 5 ล้านคน รวมถึงสร้างงานใหม่อีกกว่า 6 หมื่นตำแหน่ง ที่สำคัญโครงการ Factory Sandbox ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด โดยสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการสาธารณสุข ลูกจ้างในภาคการผลิตได้รับการคุ้มครองการจ้างงานและรายได้ ผ่านการตรวจ ฉีดวัคซีน และการแยกกักตัว โดยโครงการได้ให้การสนับสนุนสถานประกอบการ ป้องกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง และทำให้ประเทศสามารถรักษาการจ้างงานได้มากกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าในการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการฝึกงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการจ้างงานที่มีผลิตภาพและเต็มที่ ดังนั้นประเทศไทยจึงสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานแรงงานใหม่ เรื่องการฝึกงาน
"ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับ ILO และประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การฟื้นฟูหลังโควิด-19 โดยเราคาดหวังที่จะสร้างอนาคตที่มีการจ้างงานอย่างมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง"นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด
10 มิถุนายน 2565
ผู้ชม 194 ครั้ง