วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะ โดยมี นายตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ให้การต้อนรับ ในโอกาสการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 27 (The 27th ASEAN Labour Ministers’ Meeting : ALMM) ระหว่างวันที่ 27 - 29 ตุลาคม 2565 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีการประชุมระดับผู้นำ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ซึ่งในปีนี้ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าประเด็นที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก อาทิ การเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน การส่งเสริมแรงงานในอาเซียนให้มีความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนไปของงาน อนาคตของงานและการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน การส่งเสริมงานสีเขียว การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว การส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ เป็นต้น
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ในนามรัฐบาลไทยผมขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับฟิลิปปินส์สำหรับความความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบและความไม่แน่นอนต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน ตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ตลอดจนคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดใหญ่ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการกำหนดมาตรการทางสาธารณสุขที่หลากหลายเพื่อบรรเทาการการสูญเสียด้านสุขภาพ และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายดูแลแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้แรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกคนได้รับความคุ้มครองและการประกันสังคมที่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะมาตรการและสิทธิประโยชน์แก่แรงงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่น การดูแลแรงงานให้เข้าถึงการรักษาและบริการทางการแพทย์และสถานพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการกักกันตัวให้กับแรงงานที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มีการดำเนินการโครงการ Factory Sandbox มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองตรวจโควิด ฉีดวัคซีน และแยกกักตัวแรงงานที่ติดเชื้อโควิด เพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ประกาศแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างงาน ให้การคุ้มครองด้านประกันสังคมผ่านมาตรการประกันสังคมและอื่น ๆ อีกด้วย
“การประชุม ALMM ระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อรับทราบการดำเนินงานของ SLOM รวมถึงให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของประเทศสมาชิกร่วมกัน ผมในนามหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะให้การคุ้มครองทางสังคมและสิทธิและให้เกิดความมั่นใจได้ว่ามีการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทุกคน สอดคล้องกับนโยบายของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างชาติได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ” นายสุเทพ กล่าวท้ายสุด
28 ตุลาคม 2565
ผู้ชม 179 ครั้ง