วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาฝีมือแรงงานบุคลากรด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์การบิน ณ ห้องประชุมนานาชาติ ชั้น 2 อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในรูปแบบ New S - Curve ที่จะช่วยผลักดันให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 ที่มีต่ออุตสาหกรรมการบินและการขนส่ง แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินและขนส่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้มีความต้องการกำลังแรงงานที่มีคุณภาพสูงเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้มีทักษะฝีมือมากขึ้น
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือนในครั้งนี้ เป็นกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกัน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันฝึกอบรมและพัฒนาหลักสูตร หลักสูตรที่จัดทำร่วมกัน ได้แก่ การจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ หลักสูตรเจ้าหน้าที่จัดการและปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์การบิน และหลักสูตรการจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ เป็นต้น รวมทั้งแลกเปลี่ยนวิทยากร บุคลากรด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์การบิน รวมถึงการพัฒนาวิทยากรต้นแบบ เพื่อรองรับการฝึกให้แก่แรงงาน และจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เกี่ยวกับด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์การบิน เพื่อให้เป็นมาตรฐานระดับประเทศต่อไป
นางสาวบุปผา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี พ.ศ. 2566 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีเป้าหมายดำเนินการตามโครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เป้าหมาย จำนวน 2,750 คน ดำเนินการแล้ว จำนวน 1,547 คน สำหรับความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือนที่ผ่านมานั้น ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมให้แก่แรงงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการขนส่ง ในหลักสูตรการจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาความรู้สู่งานรับ-ส่งพัสดุ อย่างมืออาชีพ การบริหาร จัดการสินค้าควบคุมอุณหภูมิภายในศูนย์กระจายสินค้า และความรู้พื้นฐานความปลอดภัยในเขตการบิน เป็นต้น
"การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรวิชาชีพ ร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกพื้นที่และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ จึงต้องขอขอบคุณการบินพลเรือนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ซึ่งความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานจะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แรงงานที่สนใจและต้องการเพิ่มศักยภาพของตนเอง สามารถสอบถามได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2392-4790-4 หรือโทรสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” นางสาวบุปผา กล่าวในท้ายสุด
10 พฤษภาคม 2566
ผู้ชม 83 ครั้ง