นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง สิทธิผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไต ว่า เป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้ประกันตนเป็นอันมาก และยังเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องได้รับการดูแลรักษาไปตลอดชีวิต “สำนักงานประกันสังคมได้ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ป่วยด้วยโรคไตทุกระยะสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด” กรณีผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถรับสิทธิกรณีการบำบัดทดแทนไต ดังนี้
1.การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ให้สิทธิในอัตราไม่เกิน 1,500 บาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 4,500 บาท ต่อสัปดาห์ (เดือนละ 18,000 บาท) และจ่ายค่าเตรียมหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย ต่อระยะเวลา 2 ปี หากภายในระยะเวลา 2 ปี ผู้ประกันตนมีความจำเป็นต้องเตรียมหลอดเลือดหรือแก้ไขหลอดเลือด จ่ายเพิ่มอีกไม่เกิน 10,000 บาท
2.การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร ให้สิทธิไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และจ่ายค่าวางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกช่องท้องพร้อมอุปกรณ์ ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย ต่อระยะเวลา 2 ปี หากภายในระยะเวลา 2 ปี ผู้ประกันตนมีความจำเป็นต้องวางท่อรับส่งน้ำยาล้างช่องท้อง จ่ายเพิ่มอีกไม่เกิน 10,000 บาท
3.การปลูกถ่ายไต ให้ได้รับสิทธิการบริการทางการแพทย์ ก่อน ระหว่าง หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และรับยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
4.สิทธิประโยชน์ (เพิ่มเติม) กรณีผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อเอชไอวี จะจ่ายค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้แก่สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดในอัตราที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,000 บาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 12,000 บาทต่อสัปดาห์
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำหรับจำนวนผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวาย มาขอใช้สิทธิการรักษาโดยการบำบัดทดแทนไตวายเรื้อรัง แล้วกว่า 17,807 ราย สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 364,457,357.25 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่อยู่ในความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้บริการฟอกเลือดให้กับผู้ประกันตน จำนวน 960 แห่ง แบ่งเป็น สถานพยาบาลรัฐ 392 แห่ง องค์กรมหาชน 2 แห่ง เอกชน 566 แห่ง โดยมีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมกรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน 23 แห่ง สถานพยาบาลที่ให้บริการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวรจำนวน 103 แห่ง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิกรณีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจำนวน 1,281 ราย กรณีล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวรจำนวน 65 ราย และปลูกถ่ายไตจำนวน 440 ราย
นายบุญสงค์ เลขาธิการ สปส. กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ประกันตนที่ประสงค์จะใช้สิทธิบำบัดทดแทนไต จะต้องยื่นขอรับการอนุมัติก่อน ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ต้องการใช้สิทธิ โดยเตรียมเอกสารประกอบ ได้แก่ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำบัดทดแทนไตและปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการดูแลหลังผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะและรับยากดภูมิคุ้มกันกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-18) สำเนาเวชระเบียนในส่วนที่เกี่ยวข้อง ใบรับรองแพทย์กรณีผู้ประกันตนขอรับการบำบัดทดแทนไต หนังสือรับรองจากอายุรแพทย์โรคไต สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีผู้ประกันตนต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย ต้องมีสำเนาหนังสือเดินทาง Passport หรือหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (เฉพาะต่างชาติ/ต่างด้าว) ใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือสายด่วนประกันสังคม โทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)
28 มิถุนายน 2566
ผู้ชม 117 ครั้ง