วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายประทีป ทรงลำยอง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานเนื่องในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกับองค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ รวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการฝึกอบรมทางเทคนิควิชาการต่าง ๆ การให้คำปรึกษา แนะนำ การสัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือโครงการวิจัยในหัวข้อที่มีสนใจร่วมกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และเครื่องมือในด้านสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน อันเป็นการช่วยพัฒนาขีดความสามารถ ทางวิชาการด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของประเทศไทย และช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานของทั้งสองประเทศมีความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ณ ห้องโถงรับรอง ชั้น ๕ อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมิสเตอร์ รยู ชาง ชิน (Mr. Ryoo, Jang Jin) รองประธานองค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แห่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นผู้จรดปากกาลงนาม ท่ามกลางสักขีพยานทั้งสองฝ่าย
นายประทีป กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในครั้งนี้ ดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงที่ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยยกระดับงานด้านความปลอดภัยฯ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและความมั่นคง ของแรงงาน อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืน อันจะยังประโยชน์และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตในการทำงานให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ สาธารณรัฐเกาหลี ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำ ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ โดยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๗ ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และอนุสัญญา ฉบับที่ ๑๕๕ ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงถือได้ว่ามีประสบการณ์ในการพัฒนา การดำเนินงานรองรับอนุสัญญาฯ และสามารถให้คำปรึกษาแนะนำประเทศไทยซึ่งกำลังพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๕ นี้
นายประทีป กล่าวเพิ่มเติมว่า ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ใช้แรงงานถือได้ว่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญ ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และภาครัฐ สำหรับประเทศไทยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้มีจุดเริ่มต้นและเป็นที่รู้จักมากว่า 50 ปี ในปัจจุบันพบว่าสถานการณ์การประสบอันตรายจากการทำงานและที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อเผชิญกับปัญหาและความท้าทายดังกล่าว
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง ๒ หน่วยงาน จะได้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และเข้มแข็ง จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการลดการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคเนื่องจากการทำงาน อันจะสร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนทำงานและประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน” นายประทีป กล่าวในท้ายสุด
13 กรกฎาคม 2566
ผู้ชม 111 ครั้ง