วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รุ่นที่ 6 และบรรยายหัวข้อ “นโยบายการป้องกันและแก้ไขการบังคับใช้แรงงานหรือการบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน”ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และอบรมทางไกลผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นางสาวโสภณา บุญ – หลง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ
นางดรุณี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 (TIP Report 2023) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 2 ติดต่อเป็นปีที่ 2 ซึ่งรายงานดังกล่าวยังคงมีข้อเสนอแนะให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำแนวปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปใช้ในการคัดแยกผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้ทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์เพียงพอในการปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับทำงานใช้หนี้ การทำงานเกินเวลามากเกินจำเป็น การยึดเอกสารของลูกจ้างและการทำงานโดยไม่จ่ายผลตอบแทน
นางดรุณี กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา
“กระทรวงแรงงาน พร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานทีมสหวิชาชีพจากส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั้ง 19 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 คน อบรมระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้ผู้อบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป”นางดรุณี กล่าวท้ายสุด
25 กรกฎาคม 2566
ผู้ชม 92 ครั้ง