วันที่ 28 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในงานประชุมสมาชิกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เข้าร่วม นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสมาชิกสมาคมการท่องเที่ยว ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องแคทรียา โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ทั้งด้านการพัฒนากำลังแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ ดูแลสวัสดิการรวมทั้งสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงาน ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการในการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยมุ่งเน้นการศักยภาพแรงงาน ให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดย Up skill และ Re skill แรงงานให้สามารถทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคท่องเที่ยวและบริการ และการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยมุ่งเน้นฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง โดยเติมเต็มทักษะด้านภาษาต่างประเทศ และส่งเสริม นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการหลักสูตรฝึกอบรม เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน การสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว นวดแผนไทย สปา งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ บูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ด้านการท่องเที่ยวและบริการเพื่อสำรวจความต้องการแรงงานและ การพัฒนาทักษะฝีมือในส่วนที่แรงงานยังขาดแคลนเพื่อพัฒนากำลังแรงงานภาคท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการปี 2566 กำลังแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 288,438 คน เป็นผู้มีงานทำร้อยละ 93.20 ผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถรักษาฐานรายได้คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 51,450.19 ล้านบาท/ปี
"ใน ปี 2566 มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ผ่าน พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทำการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมากกว่า 280,000 คน โดยในปี 2567 นี้ กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวน 400,000 คน” นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความยินดีและพร้อมสนับสนุน อบรม และ พัฒนาฝีมือแรงงาน ตามจำนวนดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างเต็มกำลังโดยสามารถติดต่อสายด่วนกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 1506 กด 4 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ
28 กันยายน 2566
ผู้ชม 71 ครั้ง