วันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ SSO 515 การให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ระหว่างสำนักงานประกันสังคมและสถานพยาบาลที่เข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงทั้ง 74 แห่ง โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมรวมทั้งผู้บริหารสถานพยาบาล 74 แห่ง พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ผมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแล การเจ็บป่วยของผู้ประกันตนที่มีความจำเป็น ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการในสถานพยาบาลของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม สำนักงานประกันสังคมจึงได้มีการพิจารณาสถานพยาบาลเข้าร่วมเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษามากขึ้นรวมเพิ่มสถานพยาบาลทั้งหมดเป็น 74 แห่งทั่วประเทศ
“ผมเชื่อมั่นว่าการทำบันทึกข้อตกลงโครงการ SSO 515 การให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ซึ่งประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคนิ่วในไตและถุงน้ำดี การผ่าตัดมะเร็งเต้านม และการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูกและหรือรังไข่ จะทำให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการรอคอย ลดภาวะแทรกซ้อน ไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้ง ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น ส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่ทำบันทึกข้อตกลง ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด จึงนับได้ว่าเป็นโครงการที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างแท้จริง”
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ที่ได้ร่วมกับสถานพยาล ตั้งวันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึง 30 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการทำหัตถการแล้ว จำนวน 8,620 ราย ซึ่งจากการประเมินผลพบว่าผู้ประกันตนมีความพึงพอใจ ที่ได้รับการรักษาเป็นไปตามเกณฑ์และระยะเวลาที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยไม่มีอัตราการเสียชีวิต อย่างไรก็ดี ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ www.sso.go.th ไปที่ดาวน์โหลดข้อมูลรายชื่อสถานพยาบาลให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ สำนักงานประกันสังคมจะติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยบูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม เท่าเทียม มีคุณภาพ เพื่อผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป
09 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 65 ครั้ง