วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือ/ดูแล แรงงานไทยในอิสราเอลในภาวะสงคราม โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ประชุมรับฟังรายงานสถานการณ์จากนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ พบว่า มีแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บ จํานวน 9 คน เป็นชายทั้งหมด โดยบาดเจ็บสาหัส จํานวน 3 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย จํานวน 6 คน แยกเป็นภูมิลําเนา อุดรธานี 1 คน นครพนม 1 คน หนองบัวลําภู 2 คน สุรินทร์ 2 คน (บาดเจ็บสาหัส) อุบลราชธานี 1 คน พะเยา 1 คน และตาก 1 คน ส่วนแรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน ถูกจับควบคุมตัว จำนวน 11 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 1 คน แยกเป็นภูมิลำเนา แยกตามภูมิลำเนา อุดรธานี 5 คน (ชาย 4 คน / หญิง 1 คน) นครพนม 3 คน สุรินทร์ 1 คน ศรีสะเกษ 1 คน นครราชสีมา 1 คน
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ผมได้สั่งการฑูตแรงงาน ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในการเร่งให้ความคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเต็มที่และรวดเร็วที่สุด ตอนนี้ได้ประสานกระทรวงต่างประเทศในการวางแผนการนำพี่น้องแรงงานไทยกลับมายังประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยภายในเวลาอันใกล้นี้และมีการจัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือแรงงงานและติดตามสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล” ขึ้นแล้ว เพื่อรับข้อมูลและประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเร่งช่วยเหลือ คุ้มครอง ดูแล พี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลทุกท่านอย่างรวดเร็วที่สุด
สำหรับครอบครัวของพี่น้องแรงงานชาวไทยที่ยังไม่สามารถติดต่อญาติ พี่น้อง ณ ประเทศอิสราเอลได้ในเวลานี้ สามารถติดต่อประสานงานขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 และ 02 2456710 -11 ตลอด 24 ชั่วโมง และ มี Line Open Chat ( Link:https://bit.ly/46Gwkxz ) สำหรับแรงงานในอิสราเอลติดต่อได้ที่เบอร์ (+972) 0544693476 และ บริษัทจัดหางานในอิสราเอล (PIBA) อีก 12 บริษัท
นอกจากนี้ ล่าสุดทางสถานฑูตได้ประชาสัมพันธ์ผู้ที่ประสงค์กลับไทย ให้กรอกข้อมูลในระบบ FACEBOOK : Royal Thai Embassy, Tel Aviv (ทุกเรื่องเมืองยิว) พบว่า มีแรงงานไทยที่ได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กลับประเทศไทยแล้ว จำนวน 1,099 คน ส่วนการช่วยเหลือเรื่องสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีแรงงานไทยเป็นสมาชิกกองทุนฯ นั้นจะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด
-ซึ่งในกรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด สงเคราะห์ คนละ 15,000 บาท
-กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศสงเคราะห์ในต่างประเทศจำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท
-ทุพพลภาพ สงเคราะห์ คนละ 30,000 บาท
“ในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผมขอยืนยันว่า พวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทย ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว และนำรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทย ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างรวดเร็วที่สุด และ ขอให้มั่นใจว่า “รัฐบาลไทย” ทั้งในส่วน กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวงแรงงาน จะให้การคุ้มครองดูแลอย่างดีที่สุด พรัอมเร่งช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในการเดินทางกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัยและขอให้พี่น้องแรงงานไทยปฏิบัติตามมาตรการของทางการประเทศอิสราเอลอย่างเคร่งครัด พร้อมประสาน ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เพื่อการวางแผนในการให้ความช่วยเหลือท่านได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว และ กระทรวงแรงงานจะช่วยดูแลเรื่องการทำงานของแรงงานทุกคนให้ได้กลับมาทำงานได้ทุกคนในสถานการณ์ปกติ ผมขอให้พี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลทุกท่านปลอดภัย เราจะพยายามอย่างเต็มที่ในการนำพี่น้องแรงงานทุกท่านกลับประเทศไทยอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด
10 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 86 ครั้ง