เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ 908 ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการกำลังใจฯ และนางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการฯ และคณะ เนื่องในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง “โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” กับกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้พ้นโทษ ส่งเสริมการฝึกวิชาชีพ การยกระดับทักษะ ความรู้ การรับรองการฝึกวิชาชีพให้ผู้ต้องขังในเรือนจำและผู้พ้นโทษ เพื่อออกไปประกอบอาชีพและมีทักษะตามความต้องการของสถานประกอบการโดยมี นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมหารือ ณ ห้องประชุมปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำ แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงในชีวิต ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน มีกรมการจัดหางาน ที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการมีงานทำ การประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เช่น ผู้ที่ต้องการมีงานทำ นักเรียน นักศึกษา ทหารกองประจำการ ผู้สูงอายุ คนพิการ รวมถึงผู้พ้นโทษด้วย ซึ่งในปี 2565 มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางาน จำนวน 785 คน ได้รับการบรรจุงาน จำนวน 536 คน และในปี 2566 (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2566) มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางาน จำนวน 334 คน บรรจุงาน 255 คน สามารถช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้เข้าสู่สถานประกอบการได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ทำงานตำแหน่งฝ่ายผลิต และพนักงานขับรถยนต์ ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีอาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพวิถีใหม่ รวมทั้ง ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับผู้ต้องขังเพื่อให้มีรายได้ตามใบรับรองโดยในปี 2566 ได้ดำเนินการฝึกไปแล้ว 57 จังหวัด
“ผลจากการหารือในวันนี้ นำไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษได้มีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นับเป็นการคืนอนาคต และสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้พ้นโทษว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มีโอกาสกลับมาดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข โดยกระทรวงแรงงานยินดีให้ความร่วมมือในการจูงใจให้นายจ้างรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ผ่านการคัดเลือกผู้ประกอบการต้นแบบเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับสถานประกอบการอื่นๆ ” ปลัดไพโรจน์ฯ กล่าวท้ายสุด
09 พฤศจิกายน 2566
ผู้ชม 66 ครั้ง