วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแรงงาน รับพี่น้องแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยซึ่งเดินทางกลับประเทศไทยเพิ่มอีกจำนวน 6 ราย ด้วยเที่ยวบินที่ LY081 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 13.55 น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ
โดยนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ผมพร้อมด้วย ท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงจากทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนของกระทรวงแรงงาน มาร่วมรับพี่น้องแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย และ ผม ในฐานะผู้แทนของท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และกระทรวงแรงงาน ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับครอบครัวของพี่น้องแรงงานไทยทุกคนที่ได้รับการปล่อยตัวจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลในวันนี้ ทำให้ปัจจุบันมีแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัว เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 23 ราย ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาทำให้ได้มีการปล่อยตัวประกันแรงงานไทยอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล และมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และขอแสดงความห่วงใยถึงพี่น้องแรงงานไทยที่เหลืออีกจำนวน 9 ราย และขอให้ญาติของแรงงานมั่นใจได้ว่ารัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการประสานทุกฝ่าย เพื่อเร่งช่วยเหลือให้พี่น้องแรงงานไทยที่เหลือทั้งหมดให้ได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อพบครอบครัวในเวลาที่รวดเร็วที่สุด
ในส่วนการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน ในวันนี้ได้จัดรถไปส่งแรงงานไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จำนวน 3 ราย เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานดอนเมืองอำนวยความสะดวกดูแล สำหรับแรงงานไทย 2 ราย ที่จะเดินทางต่อเครื่องจากสุวรรณภูมิไปยังภูมิลำเนานั้นจะมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิอำนวยความสะดวกดูแลเช่นกัน นอกจากนี้ แรงงานจังหวัดและหน่วยงานในกำกับ จะลงพื้นที่ไปยังบ้านของแรงงานไทยเพื่อดูแลเรื่องเอกสาร เนื่องจากเอกสารทั้งหมดของแรงงานไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยอำนวยความสะดวกในการแปลและเรียบเรียงเอกสาร พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิประโยชน์ความช่วยเหลือต่างๆแก่แรงงานและญาติของแรงงานได้รับทราบเพื่อให้แรงงานไทยได้รับสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด รวมทั้ง ยังได้เตรียมตำแหน่งงานทั้งในประเทศและในต่างประเทศให้กับผู้ที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกรมการจัดหางานจะได้สอบถามความสมัครใจของแรงงานเพื่อหางานให้ตรงกับความต้องการอีกครั้ง ซึ่งครอบคลุมถึงการประกอบอาชีพอิสระและการเข้ารับการฝึกทักษะด้านอาชีพเสริมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย
นายอารี ไกรนรา กล่าวเพิ่มเติมว่า สิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือจากประเทศไทยที่แรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัวจะได้รับนั้น ประกอบด้วย 1.เงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยแรงงานไทยที่ เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบแรงงานไทย จำนวน 6 ราย พบว่า เป็นสมาชิกที่อยู่ในความคุ้มครองของกองทุนฯ จำนวนทั้ง 6 ราย 2.หากแรงงานไทยดังกล่าวประสบปัญหาด้านร่างกายหรือจิตใจ ยังจะได้รับเงินสงเคราะห์ จากกองทุนฯ รายละ 30,000 บาท โดยต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ (ใบรับรองแพทย์) 3.เงินสด ซึ่งกระทรวงแรงงานได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือมาจากสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับการปล่อยตัวในเบื้องต้นทุกราย รายละ 10,000 บาท
ส่วนสิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือจากอิสราเอลที่แรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัวจะได้รับ ประกอบด้วย 1.เงินช่วยเหลือจากอิสราเอล ก้อนแรกจำนวน 10,000 เชคเกล หรือประมาณ 100,000 บาท ในรูปแบบบัตรเงินสด ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งได้รับมาจากอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว 2.แรงงานไทยทุกรายที่ถูกจับกุมตัวจะได้รับเงินช่วยเหลือซึ่งนอกจากเงินก้อนแรกข้างต้นนั้น ในช่วง 6 เดือนแรก แรงงานไทยจะได้รับเงิน 6,900 เชคเกลต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นเงินไทยประมาณเดือนละ 60,000 บาท รวมถึง หากแรงงานไทยได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าได้รับผลกระทบด้านร่างกาย หรือจิตใจ สามารถนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคมอิสราเอลเพื่อประเมินขอรับเงินช่วยเหลือรายเดือนหลังจาก 6 เดือนได้ โดยแต่ละรายจะได้รับเงินไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการประเมินของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล ด้านค่าชดเชยอื่นๆ ของสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล แรงงานไทยทั้ง 6 รายได้กรอกข้อมูลและยื่นคำร้องเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานประกันสังคมอิสราเอล จะส่งให้สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 3.เงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (เงินปิซูอิม) นั้น อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จะเร่งตรวจสอบติดตามกับนายจ้างเพื่อดำเนินการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังค้างจ่าย เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (ปิซูอิม) ต่อไป
สำหรับรายชื่อแรงงานไทยในอิสราเอลที่เดินทางกลับ จำนวน 6 ราย มีดังนี้ 1) นายพัฒนายุทธ ต้อนโสกรี ภูมิลำเนา จ.นครพนม 2) นายโอวาส สุริยะศรี ภูมิลำเนา จ.ศรีสะเกษ 3) นายไพบูลย์ รัตนิล ภูมิลำเนา จ.หนองบัวลำภู 4) นายกง แซ่เล่า ภูมิลำเนา จ.เชียงราย 5) นายจักรพันธ์ สีเคนา ภูมิลำเนา จ.อุดรธานี และ 6) นายเฉลิมชัย แสงแก้ว ภูมิลำเนา จ.นครพนม
04 ธันวาคม 2566
ผู้ชม 67 ครั้ง