นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงกระทู้ถามสดด้วยวาจา กรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของนายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ว่า ไม่ขอเถียงว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะการคิดค่าแรงขั้นต่ำ 20-30 ปี ที่ผ่านมา ยังใช้ข้อมูล ฐานเดิมในทุก ๆ ปี ตนเพิ่งเข้ามาในกระทรวงแรงงาน มีการประชุมวันที่ 8 ธ.ค. 2566 และ 20 ธ.ค.2566 โดยให้อนุไตรภาคีแต่ละจังหวัด นำเสนอเข้ามาสู่คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง 5 คน ลูกจ้าง 5 คน และฝ่ายรัฐ 5 คน ส่วนตัวก็ทักท้วงในการนำเข้าครม.ครั้งแรก ว่าไม่เห็นด้วย กับการเอาสูตรคำนวณ ที่นำปี 2563-2564 มาเป็นฐานในการคำนวณ เพราะเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นช่วงเศรษฐกิจทั้งโลกตกต่ำขั้นสุด เท่าที่พวกเราในอายุขนาดนี้ ที่เจอมา คือประมาณ 100 ปี 1 ครั้ง เมื่อมีการทักท้วงและประชุมกันอีกครั้ง ในวันที่ 20 ธ.ค.2566 มติก็ออกมาเหมือนเดิม เป็นมติเอกฉันท์ทั้ง 3 ฝ่ายตามที่ประชุมครั้งแรก ซึ่งตนต้องนำเข้าที่ประชุมครม. เพราะหากไม่นำเข้า อาจจะโดนเรื่องการละเว้น เรื่องของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
“หลังจากนั้น ผมได้หารือกับท่านนายกรัฐมนตรี และ ครม. ผมขอเวลาอีกช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะขณะนี้เราได้มีการตั้งอนุกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่เป็นผู้ตั้ง ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย มีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายเศรษฐกิจรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ นี่คือเป็นทีมฝ่ายของรัฐและนักวิชาการ ส่วนตัวแทนลูกจ้าง 5 คนตามเดิม ให้มีการศึกษาลงไปลึกถึงระดับ อำเภอ เทศบาล ตำบล เราจะลงรายละเอียดมากขึ้น เพราะใน 1 อำเภอจะมีทั้งชุมชนเมืองและชนบท อยากให้แยก คณะกรรมการชุดนี้จะไปดำเนินการตาม ข้อ 5 พิจารณาอัตราค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับอยู่ มาตรฐานค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง ข้อเท็จจริงทางสังคมและเศรษฐกิจตามพื้นที่ เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ ข้อ 6 พิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเสนอคณะกรรมการค่าจ้าง และ ข้อ7 ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมอบหมาย”
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้ในวันที่ 17 ม.ค.2567 เพื่อทำงานเชิงรุก เราจะประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในบางสาขาอาชีพ บางพื้นที่ ที่เราคิดว่าจะประกาศได้สูงกว่าที่เคยประกาศมา และประกาศใช้ในปัจจุบันนี้ คาดว่าจะเป็นของขวัญ วันสงกรานต์ได้ อาจจะเป็นเพียงบางอาชีพ และบางพื้นที่เท่านั้น เพราะการที่เราจะศึกษาลงรายละเอียดทั้งประเทศ เพราะผมคิดว่านั่นคือการพูดที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้นขอเวลา 1 ปี สำหรับการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ ในปี 2568 แต่ก็จะมีการประกาศในบางพื้นที่ บางอาชีพ เป็นเบื้องต้นก่อนวันปีใหม่ไทย
นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า คณะกรรมการไตรภาคี เป็นการเลือกกันเองภายในของฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ภาครัฐไม่สามารถ เข้าไปก้าวก่ายได้ การที่ถามว่ามี 44 จังหวัดกับ 33 จังหวัด ไม่มีสหภาพ ตนจะกลับไปถามให้อีกครั้งว่าเขาเลือกกันมาอย่างไร และ เราไม่มีสิทธิเข้าห้องประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี เราเข้าไปร่วมเมื่อไหร่ เท่ากับการเข้าไปแทรกแซงของภาคการเมือง ซึ่งตนยึดถือในเรื่องการเข้าไปแทรกแซงจากพรรคการเมือง ดังนั้นตนได้เข้าไปครั้งเดียวเพื่อแนะนำตัวว่า ได้รับมอบหมาย จากนายกรัฐมนตรี ให้มาดำรงตำแหน่ง รมว.แรงงาน มาขอแนะนำตัวเสร็จแล้วจึงได้เดินออกจากห้องประชุม ซึ่งเขาก็กล่าวทันทีว่าทำไมรัฐมนตรีคนนี้ไม่มีการแทรกแซง ได้ตอบไปว่าโดยสิทธิอำนาจหน้าที่ ตนไม่มีที่จะไปแทรกแซง
“จึงขอว่า สิ่งที่ผ่านมาขอให้ผ่านไป ไม่ใช่เหมือนกับเป็นการปัดสวะ เคลียร์ในสิ่งเดิมๆ โดยไม่รับผิดชอบ แต่อันนี้มันผ่านมาแล้ว ตนก็เข้าไปแก้ไขไม่ทัน แต่หลังจากนี้ จะขอเข้ามานั่งดู โดยไม่ไปก้าวก่ายคณะกรรมการไตรภาคี แต่ขอหารือกับทางประธานบอร์ด ว่าอะไรควร มิควร และขอหารือกับที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ เป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เราหารือได้เพียงเท่านั้น เราไม่สามารถไปเจรจากับฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ได้ ขอยืนยันว่า ตนจะลงมาดูและให้ข้อแนะนำ ให้ความคิด รายละเอียดที่ต้องเจาะลึก อะไรเป็นกลุ่มอาชีพที่รัฐบาลดันเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เราจะมุ่งเป้าไปในเศรษฐกิจที่ดีกว่า ค่าแรงมากกว่า แต่อาชีพไหนที่ยังเป็นอาชีพที่ไม่ดี เราคงจะขึ้นไปตามอัตราส่วน อัตภาพ ในส่วน 3 จังหวัดภาคใต้ คนลงทุนเขามีค่าเสี่ยงภัย การที่เราจะเชิญนักลงทุนไปลงทุนยัง 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่ง่าย หากเราไปประกาศค่าแรงสูงๆ เหมือนในจังหวัดสงขลา หรือจังหวัดอื่นๆ คิดว่าสุดท้ายจะไม่มีใครไปลงทุนใน 3 จังหวัดภาคใต้”รมว.แรงงาน กล่าว
นายพิพัฒน์ ชี้แจงเรื่องการลาคลอดบุตร โดยได้รับเงินรายได้ นั้น ขณะนี้กำลังเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในอนาคตอันใกล้ กรมสวัสดิการ กระทรวงแรงงาน นำเสนอเรื่องการลาคลอดบุตร แบบมีการชดเชยเงินเดือน เท่าเงินเดือน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่าย 49 วัน ส่วนอีก 49 วัน ทางประกันสังคม เป็นผู้รับผิดชอบต่อ ผู้ใช้สิทธิ์ในการลาคลอดบุตร จะได้รับเงินเดือน 98 วัน โดยได้รับเงินค่าจ้างเต็ม จะนำเข้า ครม.ใน สัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์ถัดไป
15 มกราคม 2567
ผู้ชม 57 ครั้ง