ปลัดกระทรวงแรงงาน สั่งการทูตแรงงานไทยในต่างประเทศ เร่งหาตำแหน่งงานเพิ่ม หลังสถานการณ์ภายในอิสราเอลกระทบโอกาสกลับเข้าไปทำงานของแรงงานไทย พร้อมเน้นย้ำ ทูตแรงงาน ต้องคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน และติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทย ควบคู่ขยายตลาด
วันที่ 22 เมษายน 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การสู้รบระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเดินทางกลับเข้าไปทำงานที่อิสราเอลของแรงงานไทยนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงานผมได้สั่งการให้ทูตแรงงานไทยที่ไปประจำการอยู่ที่สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ เร่งหาตลาดแรงงานใหม่เพื่อทดแทนโดยเร็วพร้อมหาตำแหน่งงานในประเทศของตนเพิ่มเพื่อทดแทนตลาดแรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดส่งแรงงานเข้าไปทำงานได้ในขณะนี้ โดยให้ดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงรุก เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้ไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอื่นๆ มากขึ้น นอกเหนือจากอิสราเอล เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับที่สี่ และอาจส่งกระทบต่อตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศในอนาคต
โดยจากข้อมูลของ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก รวม 138,021 คน จำแนกเป็นเพศชาย จำนวน 102,922 คน และเพศหญิง จำนวน 35,099 คน โดย 10 ประเทศแรกที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุดคือ ไต้หวัน 55,675 คน รองลงมา คือ สาธารณรัฐเกาหลี 21,507 คน ตามด้วย ญี่ปุ่น 15,949 คน รัฐอิสราเอลประมาณ 24,000 คน มาเลเซีย 6,022 คน สาธารณรัฐสิงคโปร์ 3,836 คน สาธารณรัฐโปรตุเกส 2,156 คน ฮ่องกง 1,836 คน ฮังการี 1,759 คน และแคนาดา 1,610 คน ตามลำดับ ขณะที่ 10 ตำแหน่งที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด คือ 1) คนงานเกษตร 2) คนงานอุตสาหกรรมทั่วไป 3) ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ 4) กรรมกรหรือคนงาน 5) นวดแผนโบราณ 6) คนงานทั่วไป 7) ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างอื่น ๆ 8) ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 9) ช่างเชื่อม และ 10) คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ พลาสติก
“ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการดูแล และช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขยายตลาดแรงงานไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับแรงงานไทย โดยมอบนโยบายสำคัญให้ทูตแรงงานในต่างประเทศนอกจากจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่ขยายตลาดแรงงานให้กว้างขึ้นควบคู่ไปด้วย โดยต้องใช้ทักษะ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตนเองในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการตัดสินใจในแต่ละเรื่องต้องมีความละเอียดรอบคอบ เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ” นายไพโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 12 แห่ง 11 ประเทศ ได้แก่ 1)สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) 2) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น 4) สำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง 5) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงไทเป 6) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง 7) สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย 8) สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ 9) สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน 10) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล 11) ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และ 12) ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
22 เมษายน 2567
ผู้ชม 41 ครั้ง