24 พ.ค. 67 นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และพลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกองทัพอากาศ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่กำลังพลของกองทัพอากาศ ทหารกองประจำการและก่อนปลดประจำการ สร้างมิติใหม่ "ลดเวลาฝึก เพิ่มเวลาเรียนรู้ " โดยมีนางจิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสมชาติ สุภารี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และพลอากาศโท ฉัตรชาย ธานีรัตน์ เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ พลอากาศตรี ทินกร อินทร์ทอง รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ เป็นพยาน นอกจากนี้ยังมีคณะผู้บริหารของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกองทัพอากาศร่วมพิธี ณ ห้องรับรองบริพัตร กองบัญชาการกองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือว่าต้องขอขอบคุณกองทัพอากาศที่ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จและต่อยอดความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงกลาโหม ที่ร่วมกันส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหารกองประจำการอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีอาชีพหลักและอาชีพเสริมหลังปลดประจำการ และแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานในบางสาขาอาชีพ ที่ผ่านมาในปี 2567 ทั้งสองหน่วยงานจัดฝึกอบรมนำร่องให้แก่นักเรียนทหารอากาศชั้นปีสุดท้าย ในหลักสูตรช่างไฟฟ้าภายในอาคาร (ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชม.) จำนวน 2 รุ่น ฝึกอบรมโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 50 คน
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายจัดฝึกอบรมให้แก่ครูฝึกของกองทัพเพื่อเป็นวิทยากรต้นแบบ ฝึกอบรมให้แก่ทหารอากาศ จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทหารกองประจำการและก่อนปลดประจำการ กลุ่มนักเรียนทหารอากาศชั้นปีสุดท้าย และกลุ่มกำลังพลของกองทัพอากาศ ในพื้นที่ 13 จังหวัด เช่น นครราชสีมา อุดรธานี นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ เป็นต้น โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานประสานความร่วมมือกับกองบินหรือโรงเรียนการบินในพื้นที่ จัดฝึกอบรมในสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อม ช่างสีอาคาร ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ จำนวน 20-25 คนต่อรุ่น
“ปัจจุบันกองทัพอากาศมีทหารกองประจำการหรือทหารเกณฑ์จำนวน 5,500 คน เป็นแรงงานที่มีวินัย มีความรับผิดชอบ เมื่อได้รับการฝึกอบรมจะเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือพร้อมจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของกองทัพ และช่วยเหลือประชาชนได้อีกด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว
24 พฤษภาคม 2567
ผู้ชม 53 ครั้ง