เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) ระหว่าง นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับนายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กับนบายดิฐพงศ์ ฐิตะดิลก ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จ้ากัด และนางสาวตัญญุตา สิงห์มณ กรรมการผู้จัดการ ริษัท โจโจ้เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอร์ช จ้ากัด ณ The Playyard Eatery อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในพิธีดังกล่าวว่า การท่องเที่ยวสำราญทางน้ำเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งของโลกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งในการพัฒนาการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ ทักษะ ศักยภาพในการปฏิบัติงาน และการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงสั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับศักยภาพแรงงาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำในวันนี้
ซึ่งเราจะร่วมกันจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ บูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว อาทิ หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับภาคการบริการท่องเที่ยวทางน้ำที่มีแรงงานประสงค์จะฝึกอบรม ผู้ผ่านการฝึกอบรมและผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังบูรณาการด้านอื่นๆ เช่น วิทยากร บุคลากรฝึก อาคารสถานที่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ วิทยากร เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานด้านการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการทุกภาคส่วนในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคุณค่าสูง เป้าหมาย 10,000 คน ดำเนินการแล้ว 5,439 คน ล่าสุดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต ได้จัดฝึกอบรมนำร่องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หลักสูตรการติดตั้งนั่งร้านสำหรับงานสีเรือยอร์ช และเทคนิคการติดตั้งฉนวนความเย็นบนเรือสำราญ มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 40 คน
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรอื่นๆ อีกอาทิ การติดตั้งนั่งร้านสำหรับงานสีเรือยอร์ช ช่างเชื่อมแม็ก ช่างเชื่อมทิก และช่างซ่อมเครื่องยนต์เรือยอร์ช ซึ่งหากแรงงานได้รับการยกระดับทักษะฝีมือให้สูงขึ้น สามารถช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้านการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน อธิบดีบุปผา กล่าวทิ้งท้าย
28 มิถุนายน 2567
ผู้ชม 37 ครั้ง