วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางสาวโสภณา บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องพาโนรามา 1 ชั้น 14 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายไพโรจน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐาน การปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ ด้านแรงงาน ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าว มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทีมสหวิชาชีพ ให้มีความความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน และได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน มีกำหนดการฝึกอบรม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2567 โดยผู้ร่วมฝึกอบรมประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการปกครอง กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ กรมประมง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมสอบสวนคดีพิเศษทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 73 คน
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่สำคัญ กระทรวงแรงงานได้จัดทำและบังคับใช้คู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองเบื้องต้น (SOP) และแบบตรวจคัดกรองเบื้องต้น (รบ.1) โดยมีผลการดำเนินงาน ในปีที่ผ่านมาหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้น พบ ผู้ที่อาจเข้าข่ายถูกบังคับใช้แรงงาน 112 ราย จากปฏิบัติการตรวจ 2,122 ครั้ง มีการส่งเสริมสถานประกอบการ 42,480 แห่งให้นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) มาใช้ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน 2,445,194 ราย จากผลการดำเนินการดังกล่าว ทำให้กระทรวงแรงงานได้รับรางวัลดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 จำนวน 2 รางวัล คือ รางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
“กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นในการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยการนำข้อเสนอแนะของสหรัฐอเมริกามาพิจารณาเป็นแนวทางในการทำงาน การพัฒนาเครื่องมือในการทำงาน การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องทุกกระบวนการตามหลักสากล ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติได้ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 1 ต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าว
02 กรกฎาคม 2567
ผู้ชม 36 ครั้ง