(วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2567) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว. เป็นประธานในงานแถลงข่าว และ พิธีเปิดการนำร่องใช้ “EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย” พร้อม ศ.ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นายประสงค์ ดีลี ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นายเสกสรร ครองพาณิชย์ กรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) นางธัญญรัตน์ บุญถีกูล ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC สวทช.) ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รอง ผอ. สวทช. กล่าวว่า จากความสำเร็จในการติดตั้งและนำร่องการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ “EnPAT” น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย เครื่องแรกร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความก้าวหน้าของไทยในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต ผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล แต่ยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างปาล์มน้ำมัน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่ต้องการกระตุ้นปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มผ่านความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย ทั้งนี้ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็น 1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย ที่จะมีการผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ และเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2608
EnPAT มีคุณสมบัติเด่นคือจุดติดไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส ช่วยป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด และสามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ นับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างมาตรฐานของประเทศที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากปาล์มน้ำมัน การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีและส่งเสริมการใช้งานภายในประเทศ มาตรฐานที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ผลการทดสอบการนำร่องใช้งานน้ำมัน EnPAT ในครั้งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ
ศ.ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ บพข.กล่าวว่า บพข. มีภารกิจหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ โครงการพัฒนาและนำร่องใช้งาน EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบูรณาการร่วมกันของหลายภาคส่วนที่เป็นองค์กรหลักในอุตสาหกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนถึง 9 หน่วยงาน และยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเทศบาลตำบลเสม็ด จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่และทำงานอย่างใกล้ชิดกับประชาชนอีกด้วย โครงการวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ผลสำเร็จของโครงการจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการลงทุนในการวิจัยพัฒนาที่นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีมูลค่าสูง
นายประสงค์ ดีลี ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม กฟภ. กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เป็นหน่วยงานแรกในการนำร่องติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุน้ำมัน “EnPAT” เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารสำนักงานและบ้านเรือนของประชาชน ในพื้นที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยทำการติดตั้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ตอบกลยุทธ์ในการดำเนินงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การนำร่องใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าที่บรรจุน้ำมัน EnPAT ครั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าภายใต้สภาวะการใช้งานจริง เพื่อประเมินสมรรถนะของหม้อแปลงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังได้ร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. ในการขยายผลการใช้งานน้ำมัน EnPAT ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เพิ่มเติม ในพื้นที่ที่เหมาะสมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมุ่งมั่นที่จะผลักดันและส่งเสริมนวัตกรรมของประเทศให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ในวงกว้าง และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. กล่าวว่า น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า EnPAT เป็นผลงานวิจัยภายใต้ “โครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เริ่มคิดค้นและพัฒนาต้นแบบ EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดย EnPAT ได้ผ่านการทดสอบต่างๆในห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบการเสื่อมสภาพในสภาวะเร่งที่มากกว่า 6,000 ชั่วโมง การทดสอบความสามารถในการปกป้องกระดาษฉนวน รวมทั้ง การทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะเร่งโดยทำการทดสอบในหม้อแปลงไฟฟ้าจริงที่ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในด้านของกระบวนการผลิต ทีมวิจัยได้ดำเนินการขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการ มาสู่ขนาด 40 ลิตรต่อครั้ง และปัจจุบันได้พัฒนามาสู่ระบบการผลิตที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 400 ลิตรต่อครั้ง โดยกระบวนการผลิตดังกล่าวตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงแนวทางการผลักดันให้เกิดการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเชิงพาณิชย์ ทีมวิจัยได้แบ่งออกเป็น 3 แผนงานหลัก คือ แผนงานที่ 1 เป็นการใช้งาน EnPAT ในหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 1.1) การนำร่องใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เครื่องแรกร่วมกับ กฟภ. 1.2) การขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ 1.3) การใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจากการไฟฟ้านครหลวง และ 1.4) การขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เข้าไปในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้งานในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ทีมวิจัยยังมีแผนที่จะเปิดให้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ารายต่างๆ ภายในประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ามีโอกาสได้ใช้งาน EnPAT ในหม้อแปลงไฟฟ้าแบบต่างๆ อีกด้วย สำหรับแผนงานที่ 2 เป็นการนำ EnPAT ไปใช้ในหม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งและอยู่ระหว่างการใช้งาน โดยหม้อแปลงไฟฟ้าลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะบรรจุด้วยน้ำมันแร่และเมื่อถึงวงรอบในการซ่อมบำรุง อาจจะต้องมีการเปลี่ยนเอาน้ำมันแร่ที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่น้ำมันหม้อแปลงใหม่เข้าไปทดแทน หากสามารถนำ EnPAT ไปใช้ในการซ่อมบำรุงหม้อแปลงทดแทนน้ำมันแร่ได้ ก็จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งเป็นการค่อยๆผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันแร่สู่น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพได้ทั้งหมด และแผนงานที่ 3 คือความพยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ
31 กรกฎาคม 2567
ผู้ชม 31 ครั้ง