วันที่ 2 สิงหาคม 2567 นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติและกล่าวเปิดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี (Informal meeting) โดยมีนายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล รองประธานบริษัท โตโยต้าฯ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้บริหารกลุ่มบริษัทเครือข่ายพันธมิตร (PM4) และกรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่โตโยต้า เจ้าหน้าที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมพนาเวศ โรงงานบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี (Informal meeting) โดยบูรณาการกับ “โครงการเครือข่ายความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อแรงงานสัมพันธ์เชิงสันติ” ครั้งที่ 18 ที่จัดขึ้นโดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดร่วมกันต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2559 – 2567 เป็นจำนวนถึง 17 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์เพื่อลดความขัดแย้งด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดเป็นอุตสาหกรรมในระดับต้นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งนอกจากการสร้างพันธมิตรเพื่อประโยชน์ทางด้านธุรกิจ ระหว่างสถานประกอบการด้วยกันเองแล้ว การสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับคนทำงาน หรือสหภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการ เพื่อประสานประโยชน์ร่วมกันได้อย่างราบรื่น และต่อเนื่องทำให้สถานประกอบกิจการมีความเจริญก้าวหน้า ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ให้กับวงการแรงงานต่อไป
นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะกำกับดูแลงานด้านแรงงานสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านแรงงานสัมพันธ์ ภายใต้บริบทที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง เอกชนและรัฐวิสาหกิจ องค์การแรงงาน ตลอดจนเครือข่ายแรงงานให้ได้รับการคุ้มครองและรับบริการที่ดีจากกรมฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ “แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานสากล” อาทิ การส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก การแก้ไขข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง จากสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ต.ค. 66 - 30 ก.ค. 67) พบว่า มีข้อพิพาทแรงงานเพียง 18 แห่ง ซึ่งบรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี สามารถได้ข้อยุติและไม่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงด้านแรงงาน หรือการนัดหยุดงานหรือปิดงาน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่อย่างใด
02 สิงหาคม 2567
ผู้ชม 31 ครั้ง