กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มุ่งเน้นกรอบการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลก หนึ่งในทิศทางที่สำคัญคือ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ตัวอย่างโครงการ “นวัตกรรม วว. ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ” ที่ดำเนินงานเป็นรูปธรรม ได้แก่
1) การใช้ประโยชน์จาก CO2 เพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในภาคอุตสาหกรรม วว. นำศักยภาพของสาหร่ายขนาดเล็กที่มีความสามารถในการสังเคราะห์แสงเช่นเดียวกับพืชมาเป็นแนวคิดในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยี โดยใช้พลังงานจากแสงแดดและดูดซับ CO2 จากบรรยากาศเพื่อสร้างอาหารและสารชีวโมเลกุลต่างๆ ในเซลล์ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณ CO2 ในบรรยากาศ แต่ยังสร้างสารประกอบที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำมัน และสารชีวโมเลกุลอื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งนี้สาหร่ายเจริญเติบโตได้เร็วและใช้เวลาเพาะเลี้ยง 1-2 เดือน และสามารถเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเล น้ำจืด และบ่อเลี้ยง จึงลดปัญหาการแย่งพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชน้ำมัน อีกทั้งสามารถดูดซับ CO2 จากชั้นบรรยากาศได้ จึงช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน
2) เทคโนโลยีการดักจับและใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแปรรูปเป็นไบโอเมทานอล วว. ริเริ่มกระบวนการผลิตไบโอเมทานอลโดยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและหมุนเวียนก๊าซ CO2 ที่ปล่อยทิ้งเพื่อแปรรูปเป็นเมทานอล และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม หากภาคอุตสาหกรรมผลิตก๊าซชีวภาพ และอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 อาทิ โรงไฟฟ้าจากการสันดาป โรงปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหมัก เช่น เอทานอล และอุตสาหกรรมที่มีการใช้เมทานอล อาทิอุตสาหกรรมผลิตไบโอแซล อุตสาหกรรมสี อุตสาหกรรมตัวทำละลาย เป็นต้น นำเทคโนโลยีของ วว. ไปใช้ประโยชน์ จะช่วยแก้ไขปัญหาก๊าซ CO2 ได้โดยตรง และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลซึ่งได้เข้าร่วม COP26 และได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050
3) ฐานข้อมูลมวลชีวภาพการกักเก็บคาร์บอนและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศป่าไม้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลของโลก ประกอบด้วยฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดการพื้นที่ป่า เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สมบูรณ์และเหมาะสมในการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากพื้นที่ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลคือ แหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราชมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่กว่า 78 ตารางกิโลเมตร (48,750 ไร่) ประกอบด้วย 1) ฐานข้อมูลความหลากหลายพรรณพืชในระบบนิเวศป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟูในป่าสะแกราช 2) ฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าไม้ มวลชีวภาพและปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู 3) ฐานข้อมูลผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อพลวัตและการสืบต่อพันธุ์พืชในป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟู 4) ฐานข้อมูลการปรับตัวของพรรณไม้เด่นในแต่ละระบบนิเวศป่าไม้
4) การพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค ทำให้เกิดเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์ เช่น สมาคมโรงแรม ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และกลุ่มผู้รักสุขภาพ โดยนำผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับไปใช้งาน เช่น ตกแต่งจานอาหาร/เครื่องดื่ม และนำไปบริโภค เนื่องจากดอกไม้มีรงควัตถุที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ก่อให้เกิด Impact จากผลงานวิจัย ได้แก่ 1) ข้อมูลคุณประโยชน์ของพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ สำหรับปรับใช้ในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2)สร้างความยั่งยืนของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี 3) ตอบสนองนโยบายระดับโลก ในการบริโภคอาหารแบบยั่งยืน (SFS) 4) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เกิดรายได้ในชุมชน 5) Food Waste ลดการสูญเสียอาหาร/ขยะอาหารที่เพิ่มขึ้น และ 6)สร้าง Soft Power เชื่อมโยงธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม การท่องเที่ยว
นอกจากนี้ วว. ยังนำผลงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เสริมแกร่งผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชน โดยการสนับสนุนจาก วช. เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่าย ได้แก่ 1. การจัดการความรู้และใช้ประโยชน์จุลินทรีย์เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน
(ไวน์หมักจุลินทรีย์จากผลไม้ท้องถิ่น) ผลงานศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 2.การจัดการความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมแปรรูปอาหารจากผลผลิตทางการเกษตร (ข้าวและเลมอน) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเสริมศักยภาพชุมชนในจังหวัดชัยนาท สระบุรี และนครราชสีมา ผลงานศูนย์เชี่ยวขาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. นำผลงานโครงการดังกล่าว ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ณ โซนไฮไลต์และโซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และโซนงานวิจัยขายได้ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ซึ่ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00-17.00 น. ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิล์ด เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยใช้ฐานความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมอย่างครอบคลุมทุกด้าน ตามเป้าหมายนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“...การดำเนินโครงการนวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของ วว. ด้านการผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการวิจัยที่มี Technology Roadmap ขององค์กรเป็นตัวนำและทำต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลงานสร้างนวัตกรรมพร้อมใช้ 60% และฐานองค์ความรู้ 40% โดยมีแนวทางที่ชัดเจนว่างานวิจัยของ วว. ต้องมีผู้นำไปใช้และเกิดขึ้นให้ได้ทั้งเชิงพาณิชย์/เชิงสังคม และเป็น market driven มากขึ้น ต้องไม่อยู่บนหิ้ง ส่งเสริมสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมให้ความสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs OTOP และประชาชน อย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก...” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป
27 สิงหาคม 2567
ผู้ชม 28 ครั้ง